'ยังโอม' กับ 'ธาตุทองซาวด์' ปรากฏการณ์ที่ยังเพรียกหามือช่วย

ปรากฏการณ์ 'อีกี้' จาก MV ธาตุทองซาวด์ ของศิลปิน 'ยังโอม' อันเปรี้ยงปร้างเกินกว่าเพลงและมิวสิควิดีโอฮิพฮอพดาดๆ เพราะผู้คนพากันขุดอีกี้ของตัวเองมาโพสต์เต็มฟีดของโซเชี่ยลมีเดียทุกแพล็ตฟอร์ม สมเจตนาจนยังโอมเองก็ต้องออกมาโพสต์

"MV เพลงนี้ผมใช้เงินตัวเองลงไปประมาณ 1,200,000 บาท เป็น MV ที่ผมใช้เงินเยอะที่สุดในชีวิต…"

โดย "...ที่ผมต้องลงทุนเยอะขนาดนี้ เพราะอยากให้ทั้งโลกเห็นว่าคนไทยก็เฟี้ยวเหมือนกันนะ คนไทยถ้าเอาจริงๆ เราทำได้ทุกอย่าง เรามีความสามารถ เรามีศิลปินทที่เก่งมาก ในทุกๆ แขนงของศิลปะ"

และ "...นี่ขนาดผมทำด้วยตัวคนเดียว ด้วยเงินตัวเอง มันยังได้ขนาดนี้ ผมอยากจะรู้จริงๆ ถ้าคนไทยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ หรือจากไหนสักที่ วงการศิลปะบ้านเราจะไปได้ไกลแค่ไหน แล้วจะนำพาประเทศเราไปได้ถึงจุดไหน จะไปได้ไกลเท่าเกาหลีไหมนะ…"

ผมชื่นชมยังโอม ยินดีด้วยกับความสำเร็จระดับไวรัล แต่กับข้อคิดเห็น (หรือคำถาม) "...ถ้าคนไทยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ หรือจากไหนสักที่ วงการศิลปะบ้านเราจะไปได้ไกลแค่ไหน" ผมเองก็อดคิดตามไม่ได้

ศิลปินแขนงวงการบันเทิงบ้านเรามักออกมาพูดถึงอะไรแบบนี้เสมอเมื่อ 'งาน' ถูกนำเสนอจนเป็นที่นิยม ทำนองหยาดเหงื่อตนล้วนๆ ไม่มีใครสนับสนุน 'เหมือนบางประเทศ' ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นยก 'เกาหลี (ใต้)' มาเป็นคู่เปรียบกับไทย

ความจริงที่ต้องถามคือ "เกาหลีเขาสนับสนุนศิลปินกันแค่ไหน?"

พระราชบัญญัติสวัสดิภาพศิลปิน หรือ ARTIST WELFARE ACT แห่งสาธารณรัฐเกาหลี คือคำตอบ

พรบ. ฉบับนี้นิยามคำ 'ศิลปิน' ไว้ในความหมายว่า '...ผู้หาเลี้ยงชีพด้วยกิจกรรมทางศิลปะ  มีส่วนร่วมเสริมสร้างวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของสาธารณรัฐเกาหลี และสามารถพิสูจน์กิจกรรมของ เขา/เธอ ในการสร้างสรรค์ การแสดง ความช่วยเหลือทางเทคนิค ฯลฯ สาขาวัฒนธรรมและศิลปะ ตามที่กำหนดโดยกฤษฎีกาประธานาธิบดี

จริงอยู่ที่ พรบ. นี้ประกาศใช้ในระดับชาติ แต่กฏหมายลูกอันยิบย่อยลงไป อาทิ มาตรา 4 (1) รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องกำหนดและดำเนินนโยบายเพื่อปกป้องสถานะและสิทธิของศิลปินและเพื่อปรับปรุงสวัสดิภาพของพวกเขา (2) รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นต้องกำหนดนโยบายโดยให้ศิลปินมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศิลปะโดยไม่เลือกปฏิบัติจากถิ่นกำเนิด เพศ อายุ เชื้อชาติ รายได้ ฯลฯ (3) รัฐหรือรัฐบาลท้องถิ่นอาจให้การสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาสวัสดิภาพของศิลปินภายในวงเงินงบประมาณ

หมายความว่า 'ศิลปิน' ต้องถูกยอมรับจากสภาศิลปิน ซึ่งประกอบด้วยศิลปิน มูลนิธิ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น จากนั้นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมจึงนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลกลาง และตรารับรอง 'ศิลปินผู้นั้น' โดยผู้มีอำนาจสูงสุด หรือประธานาธิบดีนั่นเอง และที่ 'คนบ้านเรา' ไม่ค่อยนำมากล่าวถึงก็คือการสำรวจสถานะ สภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์สำหรับศิลปินทุกๆ สามปี

หากยังโอม หรือ ธาตุทองซาวด์ ยังรักษามาตรฐาน 10,000,000 ยอดวิว (ในห้าวัน) แบบนี้ ยืนระยะด้วยคุณภาพเช่นนี้ ด้วยความภาคภูมิใจแห่ง "...เสียงจากอดีตเด็กโรงเรียนวัดธาตุทองตัวเล็กๆ ที่อยากเห็นประเทศนี้เฟี้ยวกว่าเดิม" ก็ไม่เห็นต้องห่วงหรือกังวลใดใดเกี่ยวกับรัฐจะยื่นมือมาช่วยหรือไม่แต่อย่างใด เพราะการตั้งใจทำงานออกมาให้งดงามสมค่าคำว่า 'ศิลปิน' ย่อมเป็นทองแท้เสมอ

เหมือนดังที่ 'วินเซนต์ ฟาน โก๊ะ' เคยกล่าวไว้ว่า "I am seeking. I am striving. I am in it with all my heart." - "กูมองหา กูพยายาม กูทุ่มตัวลงไปในงานอย่างสุดหัวใจ"

เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์