'สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา' ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ สร้างมูลค่าการค้ามหาศาลต่อไทย ใต้รัฐบาลที่ถูกตราหน้าว่า 'เผด็จการ'

ไม่รู้ว่าคนไทยจะทราบกันหรือไม่ว่า 'สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา' แห่งที่ 2 ถือเป็นโครงการที่สร้างมูลค่าการระหว่างประเทศระหว่างไทยกับเมียนมา ผ่านด่านชายแดนถาวรแม่สอดให้กับประเทศไทยในปีที่ผ่านมาสูงถึง 105,426 ล้านบาทนั้น ซึ่งถูกผลักดันมาจากรัฐบาลที่ตอนนั้นใครๆ เรียกว่า 'เผด็จการ' 

เอย่าจำได้ว่า ตอนนั้นรัฐบาลเผด็จการมีวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกลถึงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ โดยหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมทั้งทางบก, น้ำ และอากาศ ในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียในอนาคต ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้มีการเชื่อมโยงด้านระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบเป็นแบบ 'ไร้รอยต่อ' หรือที่เรียกว่า Seamless Connectivity

แต่ก่อนอื่น เอย่าขอเล่าถึงปฐมบทของเรื่องราวนี้ก่อน โดยขอย้อนกลับไปในสมัยยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ซึ่งในช่วงเวลานั้น 'นายอลงกรณ์ พลบุตร' ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ และมีการลงพื้นที่สำรวจและประชุมร่วมกันกับ หอการค้าจังหวัดตาก และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 อยู่หลายรอบ เพื่อการริเริ่มโครงการสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 เป็นผลสำเร็จ อันเนื่องมาจากมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเมียนมา ณ ชายแดนแม่สอด -เมียวดี เจริญเติบโตขึ้นทุกๆ ปี อาจส่งผลทำให้เกิดความหนาแน่นจากรถบรรทุกที่ข้ามสะพานแห่งที่ 1 ได้ จนทำให้การจอดรอของรถบรรทุกต่างๆเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรในตัวเมืองแม่สอด ที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรในตัวเมืองแม่สอด

อย่างไรก็ตาม โครงการการก่อสร้างสะพานฯ และ ถนนเลี่ยงเมือง ก็ได้หยุดชะงักลง พร้อมกับการยุบสภาของ 'นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ในตอนนั้น กลับกันตลอด 3 ปีที่ได้มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจมาเป็น 'พรรคเพื่อไทย' ก็ไม่ได้มีการพัฒนาโครงการนี้ต่อ ด้วยสาเหตุทางการเมือง เพราะพื้นที่จังหวัดตากไม่ใช่พื้นที่คะแนนเสียงหรือฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งมาถึงวันเกิดรัฐประหารขึ้น โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ทว่า หลังจาก 2 เดือนของการรัฐประหาร รัฐบาล คสช.ในขณะนั้น ได้มีการส่งทีมเศรษฐกิจของ คสช. เข้ามาลงพื้นที่สำรวจและพูดคุย จึงได้เริ่มมีการปัดฝุ่นโครงการสะพานมิตรภาพ ไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 กลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้จากการร่วมผลักดันของหอการค้าจังหวัดตากและจังหวัดตาก รวมถึงการใช้ ม.44 ในเวลานั้น ทำให้รัฐบาล คสช. ได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อเริ่มโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 นี้ขึ้นมาใหมา โดยได้เริ่มก่อสร้างในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 และแล้วเสร็จเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562

ฉะนั้น สะพานมิตรภาพ ไทย–เมียนมา แห่งที่ 2 จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก และเป็นการเสริมโครงข่ายคมนาคมแนวตะวันตก-ตะวันออก เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการจราจรของสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 อีกทั้งยังเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ (East-West Economic Corridor) และที่ชายแดนไทย-เมียนมา ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อีกด้วย

นี่จึงถือเป็นอีกประตูยุทธศาสตร์ทางการค้าชายแดนและการค้าระหว่างประเทศ ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เกิดขึ้น โดยทุกวันนี้ ณ ด่านการค้าชายแดนแห่งนี้ ได้สร้างมูลค่าการต่อเดือนให้กับประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 7 – 8 พันล้านบาท 

และนี่คือ 1 ในผลงานและวิสัยทัศน์ที่ได้ทำตามสัญญาและทำแล้วของชายที่ชื่อ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ที่พอดีเอย่าจำทวนอดีตมาเล่าให้ฟังกัน...

เรื่อง: AYA IRRAWADEE