'ผู้นำเมียนมา' ธำรงหลากอารยะในวันที่ชาติพันธุ์ยังไม่สิ้นศรัทธา เดินหน้ากุมหัวใจชาวรัฐฉาน เพื่อคงไว้ซึ่งความสงบสุข

เมื่อก่อนสงกรานต์ที่ผ่านมา นายพลมิน อ่อง หล่าย ได้ไปเป็นประธานเปิด หอคำแสนหวี ที่เมืองแสนหวี เรื่องนี้นับเป็นก้าวแรกของคำสัญญาที่ นายพลมิน อ่อง หล่ายทำให้แก่ชาวไทใหญ่ ตามที่เขาได้หารือหยุดยิงกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่รัฐฉาน

สำหรับหอคำเมืองแสนหวีที่สร้างใหม่ จะมีความเหมือนกับหอคำเดิมที่ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของขุนส่างต้นฮุง ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของไทย หลังถูกทำลายไปโดยกองทัพพม่าของนายพลเนวิน ตอนยกเลิกระบอบเจ้าฟ้าในรัฐฉาน

ไม่เพียงเท่านี้ ก่อนหน้าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 นายพล มิน อ่อง หล่าย ก็ได้เป็นประธานในพิธีฝังอิฐเงิน อิฐคำ เปรียบได้กับพิธีวางศิลาฤกษ์ การก่อสร้างหอหลวงเชียงตุงหลังใหม่ บริเวณริมหนองตุง ฝั่งตะวันตก ตรงข้ามที่ตั้งหอหลวงหลังเดิมซึ่งถูกกองทัพพม่าระเบิดทิ้งไปเมื่อ 31 ปีก่อน โดยหอคำที่เชียงตุงนั้นสร้างขึ้นตามความต้องการของชาวเชียงตุงเพื่อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเชียงตุง โดยใช้ที่ดินซึ่งเคยเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าฟ้าเชียงตุงเป็นสถานที่ก่อสร้างและยึดรูปแบบตามสถาปัตยกรรมของหอหลวงเชียงตุงหลังเดิมตามแบบของเจ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงที่ได้แรงบันดาลใจในการสร้างหอหลวงหลังนี้ จากการเดินทางไปประชุมที่อินเดีย 

ย้อนไปในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2534 ในยุคที่นายพลตานฉ่วยเป็นผู้นำสหภาพพม่า ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวเชียงตุงที่ดังออกมาจากทั่วทุกหัวระแหง กองทัพพม่าได้ระเบิดหอหลวงเชียงตุงทิ้ง และมอบที่ดินซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของหอหลวงให้บริษัทเอกชนเช่า สร้างเป็นโรงแรม ใช้ชื่อว่าโรงแรมนิวเชียงตุง และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมอะเมซซิง เชียงตุงในเวลาต่อมา แม้จะมีการขอคืนที่ดินดังกล่าวในสมัยรัฐบาล NLD โดยมีการประชุมระหว่างทายาทของเจ้าก้อนอินแถลงร่วมกับเหล่าผู้อาวุโสของเมืองในการทำหนังสือเรียกร้องขอคืนที่ดินดังกล่าวต่อประธานาธิบดีวิน หมิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม, รัฐมนตรีกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยว รวมถึง ดร.ลิน ทุต มุขมนตรีรัฐฉาน ซึ่งเป็นคนของพรรค NLD

แต่ได้รับคำตอบจาก รองรัฐมนตรีกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวว่า “ที่ดินแปลงนี้รัฐบาลเมียนมาได้ให้นักธุรกิจ 2 รายเช่าเพื่อสร้างเป็นโรงแรมไปแล้ว โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา (MIC) สัญญาเช่ามีอายุ 70 ปี ดังนั้นจึงไม่สามารถคืนที่ดินให้ได้ ตามข้อเรียกร้องของประชาชน การจะคืนที่ดินตามข้อเรียกร้องที่ชาวเชียงตุงต้องการนั้น รัฐบาลจะนำมาพิจารณาได้ก็ต่อเมื่ออายุการเช่าตามที่ระบุไว้ในสัญญาสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น” 

ในขณะที่นายพล มิน อ่อง หล่าย เคยเป็นผู้บัญชาการทหาร ภาคสามเหลี่ยม ซึ่งมีกองบัญชาการอยู่ในจังหวัดเชียงตุง จึงมีความคุ้นเคยกับพื้นที่ภาคตะวันออกของรัฐฉาน โดยเฉพาะเมืองเชียงตุงเป็นพิเศษ ทำให้เขารู้และเข้าอกเข้าใจความต้องการของคนในรัฐฉานดีว่า แม้ระบอบเจ้าฟ้าหมดไปแล้ว แต่คนยังไม่สิ้นศรัทธาในระบอบเจ้าฟ้า และทางนายพล มิน อ่อง หล่าย ก็เลือกที่จะทำความต้องการของชาวรัฐฉานเพื่อแลกกับความสงบสุขที่ได้มา


เรื่อง: AYA IRRAWADEE