5 อันดับ ล่าสุด!! สกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ

ผลกระทบของสงคราม 'รัสเซีย-ยูเครน' ที่ส่งผลให้ระบบการเงินโลกเริ่มแยกขายออกเป็น 2 ส่วน ระหว่างระบบการเงินฝั่งสหรัฐฯ และระบบการเงินฝั่งจีนแล้วนั้น จะสังเกตได้ว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สกุลเงินหยวนคล้ายจะได้รับ 'อานิสงส์' จากเหตุการณ์ดังกล่าวในการปรับสถานะมาเป็น 'สกุลเงินม้ามืด' ที่อาจเข้ามาแทนที่สกุลเงินดอลลาร์ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารอย่าง 'สหรัฐอเมริกา' ได้

ทั้งนี้หากย้อนไป เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่า ซินเฉิง กรุ๊ป (Xin Cheng Group) ของจีนและบริษัท ไชน่า นอร์ท อินดัสทรีส์ กรุ๊ป (China Industry Group) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายฉบับกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ซาอุดี อารามโก (Saudi Aramco) หนึ่งในนั้นคือความร่วมมือสร้างโรงกลั่นน้ำมันมูลค่า  83.7 พันล้านหยวน (มากกว่า 4 แสนล้านบาท)

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่าทางการรัสเซียเริ่มกลับมาใช้สกุลเงินรูเบิลและหยวนมากขึ้นหลังจากชาติตะวันตกคว่ำบาตรซึ่งเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 สำนักข่าววอลล์ สตรีท เจอร์นัล (The Wall Street Journal) รายงานว่าซาอุดีอาระเบียกำลังพิจารณาการซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินหยวน ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งประเมินว่าหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงอาจส่งผลโดยตรงให้สกุลเงินหยวนกลายเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินหลักของโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับสกุลเงินดอลลาร์ในช่วงทศวรรษ 70 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 สำนักข่าวนิเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า จีนและบราซิลบรรลุข้อตกลงใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมทางการเงินโดยตรงแบบไม่ต้องใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นตัวกลางอีกต่อไป

ย้อนไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 'CNOOC' บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีนบรรลุข้อขายแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) ให้กับ “TotalEnergies” ของฝรั่งเศสด้วยสกุลเงินหยวน โดยสำนักข่าวโกลบอล ไทมส์ (Global Times) สื่อของรัฐบาลจีน ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทำธุรกรรมด้านน้ำมันข้ามชาติที่ชำระเป็นสกุลเงินหยวนครั้งแรกในประวัติศาสตร์

จากทั้ง 5 เหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ประกอบกับเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าสัดส่วนของเงินสำรองทั่วโลกในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์ลดลงต่ำสุดในรอบ 25 ปี จากเดิม 72% ในปี 2542 เป็น 59.1% ในปัจจุบัน อาจเป็นตัวชี้วัดว่าความนิยมในสกุลเงินดอลลาร์กำลังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง  ขณะที่สกุลเงินหยวนอาจเป็น 'สกุลเงินม้ามืด' เข้ามาแทนดอลลาร์ได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์จาก ยูไรซอน เอสแอลเจ แคปปิตอล (Eurizon SLJ Capital) บริษัทบริหารสินทรัพย์สัญชาติอังกฤษ  ให้ข้อมูลผ่านบันทึกของงานวิจัยว่า สกุลเงินดอลลาร์มีแนวโน้มเสื่อมมูลค่าลงไปอีก 15% ในอีก 18 เดือนข้างหน้า จากเดิมที่ลดลงไปแล้ว 10% สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่ประเมินว่า 'สกุลเงินดอลลาร์อยู่ในแนวโน้มขาลงแล้ว' จนนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าทั้งหมดอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สกุลเงินอื่นของโลก (หนึ่งในนั้นคือสกุลเงินหยวน) อาจผงาดขึ้นมาแทนที่สกุลเงินดังกล่าวได้ในเวลาอีกไม่นาน

อย่างไรก็ตาม บรรดานักเคราะห์ต่างชาติ รวมถึงในไทย ก็ยังเชื่อว่า หยวนอาจเข้ามาแทนที่ดอลลาร์ได้ “แต่ไม่ใช่ในอนาคตอันใกล้” เพราะปัจจุบันดอลลาร์ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่สกุลเงินของโลกที่ปลอดภัยที่สุด สภาพคล่องมากที่สุด น่าเชื่อถือมากที่สุด และมีความเป็นสากลมากที่สุด และบ้างก็มองว่าข่าวเรื่องหยวนจะผงาดในปัจจุบัน ก็อาจเป็นเพียงการออกข่าวทดสอบดีมานด์ของตลาดเท่านั้น


ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1062048