ย้อนมอง ‘หาเสียง-สื่อประชาสัมพันธ์’ สมัยแรกของสยาม ท่ามกลางกุศโลบายสร้างสรรค์ ไม่ฟาดฟันกันด้วยอวิชชา

ในตอนที่ผมกำลังพิมพ์เรื่องราวนี้อยู่นั้น การรับสมัครผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อนั้นก็คงได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทุกพรรคคงเดินหน้าในการหาเสียงกันเต็มรูปแบบ ผมก็เลยอยากมาเท้าความถึงเรื่องราวการหาเสียงเลือกตั้งในอดีตให้ทุกท่านได้นึกจินตนาการสักหน่อย 

ผมจะเล่าถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2480 ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 เพื่อเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 91 ที่นั่ง จาก 182 ส่วนอีกครึ่งนั้นมาจากการแต่งตั้งโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบทางตรง คือผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกบุคคลหรือพรรคการเมืองได้โดยตรง 

แต่เวลานั้นยังไม่มีพรรคการเมืองครับ ผู้สมัครที่ลงรับเลือกตั้งจึงเป็นผู้สมัครอิสระ สำหรับ ส.ส. ก่อนหน้าการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2480 นั้น มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งผู้มีสิทธิลงคะแนนจะเลือกผู้แทนตำบลเพื่อให้ไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง เพราะประชาชนยังอ่านออกเขียนได้มีจำนวนไม่มากนัก และ ส.ส. ชุดเลือกทางอ้อมนั้นได้พ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่สุดท้ายพวกเขาก็กลับมาเป็นผู้แทนประเภทที่ 2 ด้วยการแต่งตั้ง เอาน่ะ ยุคนั้นราษฎรยังไม่เยอะ พวกผู้แทนที่กลับมาเป็นอีกมีความจำเป็น (หลัก ๆ ก็ก๊วนคณะราษฎรนั่นแหละ) 

แต่วัฒนธรรมหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในยุคแรกเริ่มเลือกตั้งแห่งสยามนี้คือการหาเสียงแบบ ‘เคาะประตูบ้าน’ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ผมว่าเป็นการหาเสียงสุดคลาสสิกที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เพราะการเลือกตั้งในยุคนั้นต้องอาศัยการรู้จักหน้าตาของผู้สมัคร ยิ่งถ้าผู้สมัครรู้จักเข้าหาผู้นำหรือผู้ที่ได้รับความนับถือในสังคม ที่ปัจจุบันก็คือ ‘หัวคะแนน’ (มีมาตั้งแต่สมัยนั้น) อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครูจากเมืองหลวง ตลอดจนพระสงฆ์ ก็ย่อมมีสิทธิ์ได้รับเลือก อันนี้คือการหาเสียงทางตรงซึ่งมักถูกนักเลือกตั้งรุ่นใหม่ดูถูกเหยียดหยาม ว่าช่างโบราณได้รับเลือกมาก็เป็นแค่ ‘ผู้แทนตลาดล่าง’ แต่ผมว่าเอาเข้าจริงการหาเสียงในรูปแบบนี้ยังใช้ได้ทุกยุค ทุกสมัย ขนาดที่พรรคการเมืองที่ว่ารุ่นใหม่บางพรรคยังต้องยอมศิโรราบ ‘การเคาะประตูและการใช้หัวคะแนน’ กลืนน้ำลายตัวเองตั้งแต่ยังไม่ได้รับเลือกตั้ง อันนี้ก็งง งงดี 

ส่วนอีกเรื่องที่น่าสนใจในยุคการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2480 ก็คือการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ที่เรียกว่า ‘โปสเตอร์’ ผมว่าอันนี้น่าสนใจเพราะเขาใช้สื่อชนิดนี้ด้วยความสร้างสรรค์ สร้างคอนเทนต์กันสุดฤทธิ์ โดยเน้นการโฆษณาว่าตนเป็นใคร เก่งแบบไหน ใส่นโยบายกันสุดลิ่มทิ่มประตู ยกตัวอย่างให้อ่านดังนี้...

เลือกให้ นายชอ้อน อำพล เป็นผู้แทนดีกว่า นายชอ้อน อำพล บรรณาธิการ ‘สยามรีวิว’ เมื่อได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการแล้ว จะฟันฝ่าชาวสมุทรปราการเป็นลูกเมียหลวงให้ได้ จะไม่ต้องได้รับความลำบากอย่างที่ท่านเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ถ้าเขาได้เป็นผู้แทนมาแต่แรกแล้ว สมุทรปราการและพระประแดงจะไม่เป็นเช่นนี้เลย....ปิดท้ายด้วย....ท่านจะเห็นว่า นายชอ้อน อำพล ช่วยท่านจริงก็ต่อเมื่อท่านได้ ให้เขาเป็นผู้แทนในวันเลือก...

...เอากับเขาสิ อยากใช้ผมก็เลือกผม อะไรประมาณนั้น

หรืออย่างเช่น...ทองหล่อ บุณยนิตย์ เนติบัณฑิต ทนายความ พูดจริง ทำจริง มนตรีนครธนบุรี...ศรีกรุง ฉบับวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2480 ว่า นายทองหล่อ บุณยนิตย์ เนติบัณฑิตอัยการผู้นี้นับว่าเป็นผู้มีความรู้ในทางกฎหมายและการเมืองทั้งเป็นผู้ที่มีใจเป็นกุศล.... 

หรือจะเป็นอย่าง...โปสเตอร์ของขุนพิเคราะห์คดี....รักชาติ, ถิ่น, ฐาน, รักบ้าน, รักเรือน ก็อย่าให้ได้ชื่อว่าขายชาติ อย่าเชื่อคำยุยงส่งเสริมฯ ของเขาเราจะเสียแนวไก่ต่อ (ไก่ต่อไปซะอย่างนั้น)...

บ้างก็วางนโนบายเป็นข้อ ๆ แบบของ นายพันตรีหลวงขจรกลางสนาม ที่ระบุนโยบายเป็นคำคล้องกันดังนี้...ข่าวสาส์นการเดิน...เหินห่างโจรภัย...ไม่เสียเวลาไปศาล...สมานสามัคคี...มีที่พึ่ง...ปิดท้ายอีก 3 เรื่องจากหลวงขจรฯ คือ... พ้นความยากจน...มีคนรักษา...วิชาความรู้....หลัก ๆ พออ่านจบผมก็อดอมยิ้มไม่ได้ เพราะมันช่างสนุกสนานจริง ๆ ‘โปสเตอร์’ หาเสียงยุค พ.ศ. 2480

แต่ถึงกระนั้นแผ่นปิดเหล่านี้ก็ไม่ได้โจมตีใครอย่างเอิกเกริก และไม่มีการกลั่นแกล้งกันอย่างจริงจัง เป็นสีสันแห่งการเลือกตั้งอย่างแท้จริง ผิดกับยุคนี้ที่การทำสื่อเลือกตั้ง เน้นให้มีจำนวนมาก เน้นให้ได้เปรียบคนอื่น เน้นบังป้ายคนอื่นจนกระทั่งไม่สนใจว่าจะบดบังทัศนวิสัยหรือไม่ รวมไปถึงบางป้ายที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ออกมาตั้งกันอย่างน่าประหลาด อย่างป้ายสีแดงของโครงการหมู่บ้านแคนดิเดตผู้นำก็ตั้งบังชาวบ้าน เยอะยิ่งกว่าป้ายหาเสียงเสียอีก อันนี้หยอกนะครับ เพราะน่าจะไปแก้ไขกันแล้ว มั้งนะ !!! 

สรุปการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2480 ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 6,123,239 คน และมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 2,462,535 คน คิดเป็นร้อยละ 40.22 โดยจังหวัดนครนายกมีผู้ไปใช้สิทธิสูงสุดถึง 80.50% ส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีผู้ไปใช้สิทธิน้อยสุดเพียง 22.24%

หลังการเลือกตั้งแล้ว ในวันที่ 21 ธันวาคม ปีเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยมีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมารวมทั้งสิ้น 18 คน นับเป็นคณะรัฐมนตรีคณะที่ 8 (ปฏิวัติตอนปี พ.ศ. 2475 ใช้รัฐมนตรีเปลืองมาก) และเป็นชุดสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพระยาพหลพลพยุหเสนา

สำหรับการเลือกตั้งในอดีต โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2480 หากเรามองวิธีการหาเสียง วิธีการโฆษณา วิถีชีวิต บรรยากาศของการเมือง กุศโลบายต่าง ๆ การประกาศคุณภาพของผู้สมัครเป็นผู้แทนฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นภาพการเมืองของสยามในเวลานั้น เมื่อกลับมาสู่การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ เราน่าได้จะเห็นความบันเทิง ได้เห็นนโยบายของแต่ละพรรค ได้เห็นป้ายโฆษณาหลากสีสันสะท้อนความคิดสารพัดสารพัน ของบรรดานักการเมือง ไม่แพ้ยุค พ.ศ. 2480


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager