ว่าด้วย 'โรคกลัวสังคม' ปมปัญหาที่พบบ่อยใน 'เด็ก-วัยรุ่น' หยุดได้!! แค่เลิกขยายความ ‘ขี้อาย’ จนกลายเป็นความ ‘กลัว’

วันก่อนเห็นโพสต์ของคุณแข นักแสดงชื่อดัง ผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก 'รัศมีแข Rusameekae' พออ่านจบแล้วก็เกิดอารมณ์หลากหลายต่าง ๆ นานา ซึ่งส่วนใหญ่ออกไปทางเข้าใจ แลระคนเห็นใจในสิ่งที่น้องแขต้องเผชิญครั้งวัยเด็ก โดยเนื้อหานั้น เธอว่าแบบนี้...

“ขอบพระคุณเพื่อน ๆ แม่ ๆ และคุณพ่อที่มีลูกในวงการมาก เพราะเด็ก ๆ ทุกคนที่แขเจอ ทำให้แขมีความสุขมาก ๆ ครับ แขเคยโดนเรื่องร้าย ๆ มาตั้งแต่เด็กครับ ทั้งถูกทำร้าย ถูกรังเกียจจากสีผิว เลยทําให้แขมีอาการซึ่งยังเป็นอยู่ครับ ขอเรียกว่าโรค ‘ไม่รังเกียจเราเหรอ’ แขจะ panic ทุกครั้ง เมื่อมีคนมาจับตัว มากอด หรือจับมือ จะมีคำถามขึ้นมาตลอดว่า ‘เค้าไม่รังเกียจเราใช่ไหม?’ โดยเฉพาะเวลาเจอลูกของเพื่อน ๆ หรือคนรู้จัก 

"แข panic ครับ กลัวว่าเค้าจะไม่รังเกียจเราใช่ไหม ถ้าจะคุยจะเล่นกับลูกของเค้า ซึ่งทุก ๆ คนก็ยินดีให้เล่นกับลุงแข แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่แขได้อุ้มได้เล่นกับเด็ก ๆ ลึก ๆ แขจะร้องไห้ตลอดครับ เพราะเวลาเด็ก ๆ ยิ้มให้แข แขเหมือนเราไม่ได้เป็นตัวน่ารังเกียจครับ แล้วเด็ก ๆ ที่แขได้มีโอกาสเจอ ช่วยทำให้แขใจชื้นมาก ๆ ครับ แขรู้สึกเหมือนเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งจริง ๆ ครับ สัญญาครับว่าจะเป็นลุงแขที่ดีที่สุดเพื่อหลาน ๆ ครับ”

ลักษณะอาการที่คุณแขเรียกว่า ‘ไม่รังเกียจเราเหรอ?’ น่าจะคล้ายกับ ‘โรคกังวลต่อการเข้าสังคม’ หรือ ‘Social Anxiety in Children & Adolescents’ โดยต้องขอย้ำว่าผู้เขียนมิได้เป็นแม้เศษเสี้ยวผู้เชี่ยวชาญที่กล้าบังอาจวินิจฉัยโรค และคุณรัศมีแขเองก็อาจไม่ได้อยู่ในข่ายนี้ เพียงแต่อยากยกเธอเป็นต้นธารแห่งการแบ่งปันความรู้สึกเท่านั้น

อาการของโรคนี้ ‘นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย’ จิตแพทย์แห่งโรงพยาบาลมนารมย์ เคยเขียนเผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานไว้ว่า ‘ความกังวลต่อการเข้าสังคม’ หรือที่เรียกว่า ‘โรคกลัวสังคม’ (Social Phobia) นั้น พบเห็นได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองรู้สึกขัดอกขัดใจกับบุตรหลานของตนอย่างมากว่า ไม่กล้าแสดงออก หรือพ่อแม่อาจอับอายที่มีลูกขี้อาย โดยยิ่งพยายามผลักดันให้เด็ก ๆ เหล่านี้ ‘แสดงออก’ มากยิ่งขึ้น เช่น ส่งไปเต้นระบำขับร้องบนเวที (ที่มีคนดูเยอะ ๆ) สิ่งเหล่านี้นี่เองที่อาจยิ่งจะทำให้เด็กรู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้นที่ไม่อาจทำให้พ่อแม่พอใจได้

เริ่มจากความ ‘ขี้อาย’ จนกลายเป็นความ ‘กลัว’

ยิ่งคุณรัศมีแขเติบโตมาในสังคมที่ตนดูแปลกแยก ดังที่เคยเล่าออกทางสื่อบ่อย ๆ ว่า เธออาศัยอยู่ที่ยุโรป (สวีเดน) ด้วยผิวพรรณวรรณะ ประกอบกับความเป็น LGBTQ เข้าไปอีก องค์ประกอบความเป็น ‘แข’ จึงเริ่มต้นด้วยความ ‘อาย’ เป็นปฐม

เมื่อความกลัวต่อการถูกเฝ้ามอง (หรือประเมิน) จากคนอื่น เด็กวันวานเหล่านั้นก็จะเกิดความกลัวขึ้น โดยคิดว่าเขา (และเธอ) อาจทำหรือพูดอะไรที่ ‘เปิ่น - เชย - ผิด - งี่เง่า’ ต้องทำให้ตัวเองได้ ‘อาย’ ตกเป็นเป้าของการถูกวิพากษ์วิจารณ์

แถมคุณแขยังเคยโดนทำร้ายร่างกายด้วยอคติอันน่ารังเกียจอีก นั่นจึงเป็นเหตุที่ต้องตั้งคำถามเสมอมาว่า ‘ไม่รังเกียจเราเหรอ?’ แม้ทุกวันนี้เธอมีชื่อเสียงโด่งดังท่ามกลางคนรักใคร่แทบทั้งประเทศ ด้วยความเป็นพลเมืองระดับ ‘คุณภาพ’

ว่ากันตามจริงคนไทยอายุสี่สิบขึ้นวันนี้ล้วนผ่านประสบการณ์ถูก ‘บูลลี่’ (Bully) มามากบ้างน้อยบ้างตามแต่สภาพสังคมที่เติบโต ผู้เขียนเองก็เคย คนรอบข้างก็เคย โดยเราเองอยู่ในสถานะทั้งถูกบูลลี่และเป็นคนบูลลี่ (Abulligy) ด้วย ‘คำเหยียด’ ซึ่งแทบไม่มีผลต่อจิตใจแต่อย่างใด ต่างจากคนรุ่นปัจจุบัน

เริ่มจาก ‘ไอ้แว่น’ เบาะ ๆ ‘อีตุ๊ด’ นี่เรียกเพื่อนสาวจนกลายเป็นชื่อเล่นทั่วไป ไอ้กาง อีอ้วน อีอึ่ง โย่ง ต่ำ ดำ เขียว ไอ้เหม็นเปรี้ยว ฯลฯ มีหมด จนอาจเรียกได้ว่ายุคที่ผ่านมา คือ ‘ยุคทองของการบูลลี่กันและกัน’ ได้ไม่ผิด

และเมื่อใครคนหนึ่งถูกเรียกว่า ‘ไอ้บี้’ (เพราะใบหูพิการ) เด็กคนนั้นก็จะตอบโต้ด้วยการพินิจหาข้อบกพร่องของฝ่ายตรงข้ามว่า ‘ไอ้บื้อ’ (หรือคำอื่น) ทันที นี่เป็นวิถีของวัยรุ่นวายทูเค (Y2K age) ปฏิบัติต่อกันด้วยรัก จนคบค้าสมาคมอย่างกลมเกลียวมาถึงปฏิทินพอศอนี้

ผู้เขียนเองมิได้ประกอบสัมมาชีพเป็นจิตแพทย์แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นบทความนี้จึงมิสามารถอ้างอิงอะไรได้เลยแม้อักษรเดียว เขียนขึ้นเพียงแค่อยากเปรียบสิ่งที่คนพบเจอมานั้น ‘แตกต่าง’ และ ‘จิตใจคนก็แข็งแรงไม่เท่ากัน’

บิดาของผู้เขียนเองเคยกล่าวชมเชยบุตรชายตัวเท่าลูกสุนัขที่กล้าเดินไปถาม (ทาง) กับพนักงานขายในห้างสรรพสินค้ากับภรรยาของท่านว่า “ไอ้หัวล้านนี่มันหน้าด้านฉิบหาย” (พลางหัวร่อชอบใจ)

ช่างเป็นคำชมเชิงเหยียดที่มีความสุขทุกครั้งที่นึกถึงจริง ๆ

ขอส่งกำลังใจให้น้องรัศมีแขผ่านบทความนี้


เรื่อง: พรชัย นวการพิศุทธิ์