ย้อนไทม์ไลน์ความสัมพันธ์ ‘ไทย-ซาอุดีอาระเบีย’ รอยร้าวฉานที่กำลังถูกผสานให้เชื่อมต่อกันอีกครั้ง

หากย้อนอดีตกลับไป จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน กรณีความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย คือ การที่เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียถูกลอบสังหารกลางเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 โดยที่ตำรวจไทยไม่สามารถสืบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้

ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 คนร้ายได้ลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดีอาระเบียอีก 3 ศพรวดในเวลาเดียวกัน และในเดือนเดียวกัน ‘นายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี’ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียและเป็นสมาชิกราชวงศ์ของตระกูลอัล-ซะอูด ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ จนทำให้มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ข้อหา ‘อุ้ม’ นายอัลรูไวลีไปเค้นข้อมูล เพราะเชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดีอาระเบียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

กรณีนี้ ทำให้ทางการซาอุดีอาระเบียไม่พอใจอย่างยิ่ง จนถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนของซาอุดีอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย - ซาอุดีอาระเบียไม่ได้เลวร้ายลงเพียงเพราะคดีฆาตกรรมเท่านั้น แต่ยังเกิดจากกรณีที่คนงานไทย ‘นายเกรียงไกร เตชะโม่ง’ ซึ่งไปทำงานในวังของเจ้าชายแห่งซาอุดีอาระเบีย แล้วได้ลักลอบโจรกรรมเพชรกลับประเทศไทย แต่ตำรวจไทยก็ยังไม่สามารถติดตามเพชรของกลางหลายรายการส่งกลับคืนให้ซาอุดีอาระเบียได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเพชร ‘บลูไดมอนด์’ ซึ่งเป็นเพชรเม็ดใหญ่ที่สุด

ความสัมพันธ์กลับเลวร้ายลงไปอีก เมื่อของกลางส่วนหนึ่งที่ติดตามกลับมาได้ มีการเอาไปปลอมแปลงก่อนนำกลับไปคืนให้ซาอุดีอาระเบีย ทั้งหมดจึงเป็นเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุดีอาระเบียสะบั้นลงทันที

และในสมัยรัฐบาลของ ‘นายกทักษิณ ชินวัตร’ จะหมดอำนาจ เขาได้เสนอเงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาท ให้แก่รัฐบาลซาอุฯ เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และเพื่อให้แรงงานไทยกลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่ยังไม่ทันได้รับการตอบรับหรือปฏิเสธก็มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจในประเทศไทยเสียก่อน

และเมื่อปี 2563 ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ‘นายดอน ปรมัตถ์วินัย’ ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2563 ว่าตนเองได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน พร้อมทั้งกล่าวว่า การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียนั้น เป็นการเดินทางเยือนตามคำเชิญของฝ่ายซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีการนัดหมายกันไว้ล่วงหน้าและยังถือเป็นการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยในรอบ 30 ปี

ระหว่างการเยือนได้มีการหารือกับ ‘เจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด’ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย กับ ‘นายอาดิล บิน อะหมัด อัล-นูบีร’ รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย  โดยประเด็นหลักที่ได้มีการพูดคุยกันคือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเยือนครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างดี และถือเป็นพัฒนาการในทางบวกที่จะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศต่อไป”

และในปี 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไป เยือนซาอุฯ ตามคำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานฯ มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย การฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้ ถือเป็นความสัมพันธ์ทางการทูตที่พัฒนาขึ้นสู่ระดับสูงสุด หลังจาก 32 ปี ไทยมีตัวแทนซาอุฯ แค่ระดับอุปทูต ซึ่งจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ทุกด้านยกระดับตามไปด้วย เช่น ด้านแรงงาน, การท่องเที่ยว, วัฒนธรรม, การลงทุน, การส่งออกอาหารฮาลาล การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของชาวมุสลิมในไทย การสนับสนุนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของชาวมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ความสัมพันธ์กับองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ ‘โอไอซี’ แม้การส่งแรงงานไปซาอุฯ อาจไม่ได้มากเท่าเดิม แต่ก็รับทราบว่า ซาอุฯ ยืนยันจะใช้แรงงานไทย

วันนี้ (22 มี.ค. 66) ด้านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีกับความสำเร็จหลังการฟื้นความสัมพันธ์ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ช่วงต้นปี 2565 เป็นผลสำเร็จ เปิดโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน 9 ด้าน ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว, ด้านแรงงาน, ด้านอาหาร รวมถึงความร่วมมือใน ด้านสุขภาพ, ด้านพลังงาน, ด้านการศึกษาและศาสนา, ด้านความมั่นคง, ด้านกีฬา และด้านการค้าและการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้ง 2 ฝ่าย โดยภาคเอกชนไทยสนใจลงทุนธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าตกแต่งภายใน

ส่วนซาอุดีอาระเบีย สนใจลงทุนด้านพลังงานในพื้นที่ EEC ซึ่งซาอุดีอาระเบียพร้อมลงทุนสูงถึง 300,000 ล้านบาทใน EEC นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ขยายความร่วมมืออีกหลายฉบับ จับคู่เจรจาธุรกิจ ระหว่างภาครัฐซาอุดีอาระเบีย และ ภาคเอกชนไทย มากกว่า 500 คู่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดมูลค่าการค้าใหม่ 3 หมื่นล้านบาท และสร้างการลงทุนระหว่างกันมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2566

ในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 1 ปีฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ตัวเลขการค้าของสองฝ่ายมีมูลค่ารวมกว่า 323,113.42 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 37.64% ทำให้ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 17 ของไทยในตลาดโลกและอันดับที่ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบียเป็นมูลค่ากว่า 71,386.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.46% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวก รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ อาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และผลิตภัณฑ์ยาง และนำเข้าสินค้าจากซาอุดีอาระเบียกว่า 251,727.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.69% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้านํ้ามันดิบ นํ้ามันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ และเคมีภัณฑ์

ด้านการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยกว่า 1 แสนคน มากกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด ที่มีท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 3 หมื่นกว่าคนต่อปี ซึ่งคาดว่าด้วยความนิยม ชื่อเสียงด้านเมืองจุดหมายปลายทางของไทย และการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกสบายมากขึ้นผ่านเที่ยวบินตรง ซึ่งเกิดจากความสำเร็จ และความพยายามของรัฐบาล จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย ให้เข้ามาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นได้อีกเป็นจำนวนมาก


เรื่อง: พัฒน์นรี ชัยเดชารัตน์ (Content Manager)