สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 13 - 17 มี.ค.66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 20 - 24 มี.ค.66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมัน ICE Brent และ NYMEX เฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ ธ.ค. 64 ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ Dubai ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 สัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนต่อสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเผชิญความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์มีโอกาส 75% ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 4.75 - 5.0% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ในวันที่ 21 - 22 มี.ค. 66 ขณะที่มีโอกาส 25% ที่ Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม หลังสัปดาห์ก่อน ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank ปิดกิจการจากปัญหาสภาพคล่อง

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอเงินเฟ้อ โดยวันที่ 16 มี.ค 66 ECB มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate) อยู่ที่ 3.0%, อัตราดอกเบี้ยนโยบายสำหรับการปล่อยสภาพคล่องให้ระบบธนาคารพาณิชย์ (Main Refinancing Operations Rate) อยู่ที่ 3.5% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ให้ธนาคารกู้ยืม (Marginal Lending Facility Rate) อยู่ที่ 3.75% สูงสุดตั้งแต่ปี 51 ทั้งนี้ ประธานธนาคารกลางออสเตรีย (Reserve Bank of Australia: RBA) นาย Robert Holzman คาดว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate สู่ระดับ 4.0% ภายในปี 66 แม้ตลาดกังวลต่อความไม่แน่นอนของภาคธนาคารยุโรป ล่าสุด ธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss National Bank) อนุมัติเงินกู้ให้ธนาคาร Credit Suisse มูลค่า 5 หมื่นล้านฟรังก์สวิส (5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ภายใต้แผนปรับโครงสร้างหนี้และเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้น

สัปดาห์นี้ ทางเทคนิคคาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยแนวรับสำคัญคือ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งต้องจับตาการประชุม FOMC และสถานการณ์วิกฤตธนาคาร ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลาย ราคา ICE Brent มีโอกาสทดสอบแนวต้านที่ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

-Goldman Sachs ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในปี 66 อยู่ที่ 6.0% จากปีก่อนหน้า จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.5% จากปีก่อนหน้า จากจีนเปิดประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

-รายงานฉบับเดือน มี.ค. 66 ของ IEA, EIA และ OPEC ประเมินอุปสงค์น้ำมันโลกปี 2565 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 99.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน) และคาดการณ์ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 101.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) 

-Kpler คาดการณ์จีนนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 66 เพิ่มขึ้น 9.4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในเดือน เม.ย. 66 อยู่ที่ 0.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่ ธ.ค. 63

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
-กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ในเดือน ก.พ. 66 อยู่ที่ +6.0% จากปีก่อนหน้า ต่ำสุดตั้งแต่ ก.ย. 64

-Kpler รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบทางทะเล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 มี.ค. 66 เพิ่มขึ้น 0.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์เดือน มี.ค. 66 จะส่งออกเพิ่มขึ้น 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 5.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน