เจ้าถิ่นเจ๋ง!!! ร้านสะดวกซื้อเจ้าถิ่นใน ‘อินโดนีเซีย’ แข็งแกร่ง!! แม้แต่ ‘7-11’ ยังต้องยอมแพ้ - ล้มเลิกกิจการ
สวัสดีนักอ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมมีเรื่องราวน่าสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านมาเล่าสู่กันฟังครับ หากพูดถึงร้านสะดวกซื้อในไทยที่เราเห็นได้บ่อย เข้าใช้บริการบ่อย ก็ต้องนึกถึง 7-Eleven ถูกต้องไหมครับ และเป็นที่รู้กันโดยทั่วว่า 7-Eleven ประสบความสำเร็จในประเทศไทยอย่างยิ่ง
แต่ถึงแม้ว่า 7-Eleven จะประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายในหลาย ๆ ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาร์ แต่ใน ‘อินโดนีเซีย’ แล้วนั่น กลับเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก และไม่มีทีท่าว่าจะสามารถเจาะตลาดร้านสะดวกซื้อของประเทศนี้ได้
เหตุผลหลัก ๆ ที่เป็นเช่นนั้น คือ ‘อินโดนีเซีย’ มีเครือข่ายร้านค้าสะดวกซื้ออยู่แล้ว เช่น ‘Indomaret’ และ ‘Alfamart’ ที่สามารถพบเจอได้เกือบทุก ๆ ๑ กม. หรือน้อยกว่านั้น และร้านค้า ๒ เจ้านี้จะกระจายตัวอยู่ตามเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ 7-Eleven ทำแล้วได้ผลดีในประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ร้านสะดวกซื้ออย่าง Lawson's และ Family Mart ก็ใช้วิธีการนี้ด้วยเช่นกัน
นอกจาก 7-Eleven จะนิยมเปิดร้านสะดวกซื้อภายในอาคาร สำนักงาน หรือในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน โดยกำหนดเป้าหมายไปยังพื้นที่ที่ Indomaret และ Alfamart ตั้งอยู่ หวังให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการแล้ว 7-Eleven ยังอัปเกรดร้านให้เป็นร้าน ‘ระดับพรีเมียม’ โดยมีบริการสถานที่นั่งรับประทานอาการ ดื่มเครื่องดื่ม และมี Wi-Fi ให้ใช้ฟรีอีกด้วย
ดูเหมือนว่ากลยุทธ์นี้จะดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้ แต่ก็เพียงแค่ในระยะแรกที่เป็นกระแสเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปผู้คนมักจะเข้ามาซื้อเพียงเครื่องดื่มที่มีราคาถูก เพียงหวังจะได้นั่งในร้านเพื่อใช้ Wi-Fi ฟรีเป็นเวลาหลายชั่วโมง ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้ 7-Eleven มีรายได้น้อย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสูง (ค่าไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และค่าเช่าพื้นที่ในพื้นที่ระดับพรีเมียม)
7-Eleven เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น นักเรียนนักศึกษา อายุระหว่าง 18 - 25 ปี โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะใช้ 7-Eleven เป็นสถานที่แฮงก์เอาต์ และสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในกลางวันและกลางคืน (24 ชม.) โดยมีการนำเสนอรายการอาหารและเครื่องดื่มของ 7-Eleven แบบดั้งเดิมเช่น Slurpee และของว่างพร้อมกับอาหารท้องถิ่นและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั่นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงฮิตในกล่มวัยรุ่น
ในปี ค.ศ. 2020 7-Eleven มีสาขามากถึง 70,750 แห่งทั่วโลก แต่ร้าน 7-Eleven แต่กลับไม่มีสักสาขาเดียวในอินโดนีเซีย เนื่องจากในปี ค.ศ. 2017 7-Eleven ได้ประกาศปิดสาขาทั้งหมด หลังเข้ามารุกธุรกิจในประเทศนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009
การดำเนินงานของ 7-Eleven ในอินโดนีเซียจะดำเนินงานผ่านผู้ให้บริการท้องถิ่นคือ PT Modern Internasional ซึ่งจัดการบริการที่ตรงกันข้ามกับร้านสะดวกซื้อในอเมริกาที่เน้นการซื้อกลับบ้านและของกินเล่นยามดึก หลังเริ่มธุรกิจได้ไม่นาน บริษัท PT Modern Internasional ก็เริ่มขยายตัวภายในกรุงจาการ์ตา โดย 7-Eleven เปิดสาขาแห่งที่ 21 ภายในปี ค.ศ. 2010 และมีสาขาครบ 100 แห่งในปี ค.ศ. 2012
ในปี ค.ศ. 2013 บริษัทมียอดขายสูงสุดประมาณ 78 แห่งจากร้านค้าทั้งหมด 190 แห่ง ดูเหมือนว่าอนาคตของ 7-Eleven ในอินโดนีเซียจะสดใส แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่ เนื่องจากประสบปัญหาที่แก้ไม่ตกเพราะลูกค้าไม่ยอมใช้เงินในร้าน แม้ว่าจะมีลูกค้าจำนวนมากใน 7-Eleven แต่ก็จ่ายเงินซื้อเครื่องดื่มเพียงแก้วเดียว แล้วนั่งนาน ๆ หลายชั่วโมง
บริษัท PT Modern Internasional ได้ออกมาบอกด้วยว่า “ยอดขายที่ขาดหายไปเป็นเพราะการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งรายเดิมและรายใหม่ เช่น Family Mart และ Alfamart”
ภายในปี ค.ศ. 2016 จำนวนร้านค้าสะดวกซื้อในอินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้น จาก 12,000 ร้านค้า เป็น 40,000 ร้านค้าภายในเวลาไม่ถึงทศวรรษ (10 ปี)
โดยคู่แข่งรายใหญ่และน่ากลัวที่สุดของ 7-Eleven มีด้วยกัน 2 รายคือร้านสะดวกซื้อ ‘Indomaret’ และ ‘Alfamart’ ซึ่งทั้ง 2 รายใหญ่นี้มีประวัติมายาวนาน และเป็นผู้เล่นชั้นนำในตลาดร้านค้าสะดวกซื้อของอินโดนีเซีย
แม้ 7-Eleven จะมีสาขา 190 สาขาในอินโดนีเซีย แต่จำนวนร้านค้าของคู่แข่งกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าอย่างถล่มทลาย โดยปี ค.ศ. 2017 มี Alfamarts มากกว่า 10,000 แห่ง และ Indomaret มีสาขาอยู่ประมาณ 15,000 แห่ง ส่งผลให้ Alfamart มีส่วนแบ่งตลาด 38% และ Indomaret 47%
และนั่นสาเหตุที่ทำให้ 7-Eleven ปิดร้านค้าทั้งหมดภายใน ค.ศ. 2017 ซึ่งก่อนหน้านั้นครองส่วนแบ่งเพียง 0.7% ของตลาดร้านค้าสะดวกซื้อในอินโดนีเซีย
นอกจากมี 2 คู่แข่งที่น่ากลัวมาก ๆ แล้ว ปัญหาด้านกฎระเบียบก็เป็นปัญหาใหญ่มากๆ เช่นกันสำหรับ 7-Eleven โดยในปี ค.ศ. 2015 ‘อินโดนีเซีย’ ประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านสะดวกซื้อและมินิมาร์ท หลังจากประกาศห้ามดื่มแอลกอฮอล์มีผล ยอดขายสุทธิของ 7-Eleven ก็ลดลงทันทีเกือบ 24% ในปีต่อมา
แต่คู่แข่ง 2 รายใหญ่อย่าง Indomaret และ Alfamart กลับมายอดขายเพิ่มมากขึ้น เนื่องสามารถทนต่อคำสั่งห้ามได้และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายกว่า 7-Eleven
นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ปัญหาอีกหนึ่งอย่างของ 7-Eleven คือไม่สามารถขยายเครือข่ายร้านสะดวกซื้อออกไปนอกกรุงจาการ์ตาและเมืองรอบ ๆ ได้ แต่ Alfamart และ Indomaret สามารถทำได้
โดยบริษัท PT Modern Internasional ได้อ้างว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียเป็นสาเหตุที่ทำให้รายได้ลดลง ทำให้บริษัท PT Modern Internasional ต้องทยอยปิดร้าน 7-Eleven ที่มียอดขายต่ำไปถึง 25 แห่งในปี ค.ศ. 2016 เพื่อลดรายจ่ายจากการดำเนินงาน และที่สุดท้ายต้องปิดร้าน 7-Eleven ที่เหลือทั้งหมดในปี ค.ศ. 2017
👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล