เปิดไทม์ไลน์ เลือกตั้ง 66 หลัง ‘ยุบสภา’ แล้ว ไปยังไงต่อ

หลายคนใจจดใจจ่อ ตั้งตารอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เพื่อก้าวเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเต็มตัว และหากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว จะมีขั้นตอนต่อไปอย่างไรบ้าง ไปดูไทม์ไลน์กันเลย

>> เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว ตามกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องกำหนดและประกาศ ‘วันเลือกตั้ง’ รวมถึงวันรับสมัคร ภายใน 5 วันหลังยุบสภา

>> จากนั้นจึงจะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลา 5 วัน และเมื่อปิดรับสมัครแล้ว นับต่อไปอีกไม่เกิน 7 วัน กกต. จะต้องประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งคาดว่าขั้นตอนเหล่านี้จะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคม – ต้นเดือนเมษายน 2566

>> ต่อมา กกต. จะต้องประกาศหน่วยเลือกตั้ง สถานที่ลงคะแนน และรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ประชาชนอย่างเราทราบก่อนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน

>> โดย กกต. จะส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ให้เราตรวจสอบรายชื่อก่อนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน ซึ่งเราสามารถเช็กดูได้ว่า ชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านของตนเองครบหรือไม่ มีชื่อใครขาดหรือเกินมารึเปล่า ถ้ามีชื่อใครขาดหรือเกินมา ก็จะมีเวลาทักท้วงแจ้งเพิ่ม-ถอนชื่อ ก่อนถึงวันเลือกตั้งได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน

>> ขณะเดียวกัน กกต. จะต้องสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้เรียบร้อยก่อนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน และหากมีการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งหรือสถานที่ลงคะแนนจะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วันด้วย

>> สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งได้ กกต. จะประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้า ให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้สิทธิได้ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเป็นวันที่เท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่ไม่ว่างไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้จริงๆ ก็ยังสามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เสียสิทธิอื่นๆ ทางการเมือง โดยแจ้งเหตุได้ภายใน 7 วัน ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง

และสุดท้าย ‘วันเลือกตั้ง’ จะเกิดขึ้นภายใน 45-60 วันนับตั้งแต่ยุบสภา ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 7 พ.ค. หรือ 14 พ.ค. 2566 นั่นเอง