‘ปศุสัตว์’ บุกทลายแหล่งผลิต-จำหน่ายยาสัตว์เถื่อน รวบของกลางกว่า 100 รายการ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท

ปศุสัตว์ สนธิกำลังบุกทลายแหล่งผลิต-จำหน่ายยาและอาหารสัตว์เถื่อนในเขตหลักสี่พบของกลางกว่า 100 รายการ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท 

นายสัตว์แพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่า ล่าสุดทีม "สารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์" ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) เข้าตรวจสอบสถานที่จำหน่ายอาหารสัตว์และยาสัตว์ในพื้นที่เขตหลักสี่กรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รับข้อมูลร้องเรียนผ่านสื่อออนไลน์ว่า มีการผลิตอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะและยาสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงจำหน่ายอาหารสัตว์และยาสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน 

ผลการตรวจสอบพบอาหารสัตว์และยาสัตว์ที่ไม่มีทะเบียนกว่า 100 รายการ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท โดยเข้าข่ายกระทำความผิด ผลิตอาหารสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ขายอาหารสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ผลิตยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยเจ้าหน้าที่ยึดอาหารสัตว์และยาสัตว์ทั้งหมดและเก็บตัวอย่างของกลางส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสารอันตรายหรือสารตกค้าง พร้อมนำตัวเจ้าของส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อไป

ทั้งนี้กรมปศุสัตว์จะตรวจสอบและปราบปรามการค้าอาหารสัตว์และยาสัตว์ที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างเข้มงวด การจำหน่ายยาและอาหารสัตว์ผิดกฎหมาย ส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าปศุสัตว์ รวมถึงต้องปกป้องสุขภาพของผู้บริโภคเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

"สารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์" ที่กรมปศุสัตว์จัดตั้งขึ้นจะทำหน้าที่ตรวจสอบ สืบหา และปราบปรามการจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมายด้วยการใช้ Social Media Monitoring Tool และเชื่อมโยงข้อมูลกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และกระทรวง DES เนื่องจากปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงด้านการขายสินค้าและบริการด้านปศุสัตว์ทางสื่อออนไลน์มากขึ้นเช่น อาหารสัตว์ไม่มีคุณภาพ โฆษณาเกินความเป็นจริง ผสมหรือปนเปื้อนต้องห้ามได้แก่ สารเร่งเนื้อแดง สารพิษ โลหะหนัก เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ น้ำเชื้อปลอมไม่ตรงสายพันธุ์หรือมีโรคแฝง รวมถึงการให้บริการจากผู้ไม่มีใบอนุญาต (หมอเถื่อน) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจสอบผ่าน Social Network หลายๆ ช่องทาง เพื่อดูแลด้านคุณภาพมาตรฐานอาหารสัตว์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย การควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ เพื่อความปลอดภัยต่อสัตว์และผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นการปกป้องเกษตรกรและประชาชน”นายสัตว์แพทย์สมชวน กล่าว


ที่มา : https://www.naewna.com/local/717183