น้ำใจจากชุมชน ความดีงามแห่งสยาม ปันทุกข์เพื่อคนยากช่วยคนอิ่มท้อง จนแม้แต่ WHO ยังชื่นชม

ส่วนหนึ่งจากงานวิจัย ‘ตู้ปันสุข: วิถีปกติใหม่ ยุคโควิด-19’ ของ ‘อุษณีย์ พรหมศรียา’ กับ ‘อัปสร อีซอ’ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระบุว่า “...การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งมาตรการปิดเมือง หรือ ล็อคดาวน์ (Lockdown) การหยุดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้มีคนจำนวนมากต้องขาดรายได้ หรือตกงาน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตที่ยากลำบาก”

“...มีรูปแบบการช่วยเหลือซึ่งได้รับความนิยม คือ 'โครงการตู้ปันสุข’ ที่มุ่งช่วยเหลือคนในชุมชน ด้วยการให้คนที่มีกำลังช่วยเหลือ ร่วมแบ่งปันของต่าง ๆ นำมาใส่เอาไว้ให้กับคนที่ต้องการมาเปิดตู้กับข้าวนี้ เพื่อไปหยิบใช้ได้ฟรี โดยมุ่งหวังช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนให้ผ่านวิกฤตจากโควิด-19 ไปด้วยกัน”

จะมีสักกี่ประเทศบนโลกซึ่งผ่านเผชิญหน้ากับเชื้อมหันตภัยไวรัสเดียวกัน โดยมีสิ่งซึ่งเรียกว่า 'ตู้ปันสุข' เช่นไทยเรา สิ่งนี้คือความดีงามของน้ำใจ แม้ผู้ให้ไม่เคยรู้จักกันกับผู้รับมาก่อน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อันมีมาแต่โบราณ ถูกส่งต่อมายังยุคปัจจุบัน อย่างที่ใครหน้าไหนก็ 'ด้อยค่า' ลงมิได้ นี่คือแนวคิดแบบ "หยิบใส่ตู้อิ่มใจ หยิบออกไปอิ่มท้อง" อย่างไทยแท้ คือเอกลักษณ์ที่องค์กรระดับโลก WHO ยังต้องสรรเสริญสดุดี

แม้ภาครัฐออกมาตรการชุดใหญ่เพื่อยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา แต่ด้วยข้อจำกัดในทางปฏิบัติอาจไม่สามารถครอบคลุมได้อย่างทั่วถึง เราจึงเห็นภาพประชาชนยืนต่อแถวท่ามกลางแดดร้อน ฝนตก เพื่อรับอาหารกล่อง หรือข้าวสาร อาหารแห้ง จากผู้ที่นำมาบริจาค นอกจากนี้ ความเอื้ออาทรในสังคมยังมีในรูปแบบอื่น ๆ ที่หลากหลาย เช่น พระสงฆ์เปลี่ยนจากรับบิณฑบาตมาเป็นผู้แบ่งปันอาหารแจกประชาชน

ว่ากันว่าแนวคิด ‘ตู้ปันสุข’ ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ ‘The Little Free Pantry’ ของ Jessica Mcclard ในสหรัฐอเมริกา นำมาประยุกต์กับการแบ่งปันช่วงโควิด-19 ได้อย่างลงตัว โดยเปิดโอกาสให้คนที่ "มี" นำอาหารหรือของใช้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมาเติมใส่ตู้ เพื่อให้คนที่ "ขาด" มาหยิบไปฟรี ด้วยสโลแกน "หยิบไปแต่พอดี ถ้าท่านมีใส่ตู้แบ่งปัน"

นับตั้งแต่ ‘ตู้ปันสุข’ ตู้แรกถูกวางไว้หน้าร้าน ‘ประจักษ์เบเกอร์รี่’ (สุขุมวิท 71 พระขโนง) เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563 มาถึงวันนี้ วันที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงจนเกือบเป็นปกติ เราก็ยังสามารถพบเห็น ‘ตู้ปันสุข’ ได้ตามท้องที่ต่างๆ ยืนยันว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่มีชีวิตค่อนข้างลำบาก ก็จะได้อาศัยตู้ปันสุขช่วยบรรเทาความลำบากนั้นได้

ในบางประเทศคนกวาดตาหา ‘ตู้เอทีเอ็ม’ แต่บ้านเราเห็น ‘ตู้ปันสุข’

แม้ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบลงอย่างราบคาบเบ็ดเสร็จเมื่อไร ความเดือดร้อนจะยืดเยื้อยาวนานอีกเพียงไหน แต่กิจกรรมปันสุขที่เกิดขึ้น ก็ได้สร้างความอิ่มเอมกับ 'ผู้ให้' คลายทุกข์แก่ 'ผู้รับ' แล้ว ซึ่งแสดงถึงความร่วมมือ ร่วมใจ ของทุก ๆ คนผู้พร้อมจะแบ่งปันให้กับ 'เพื่อน' ที่ไม่เคยรู้จักกันเลยก็ตาม

เริ่มแรก 'ตู้ปันสุข' อาจถูกมองอย่างเหยียดหยาม ผสมคำปรามาสต่าง ๆ นานา ว่าไม่มีทางสำเร็จลงได้บนแผ่นดินนี้ แต่กาลเวลาก็คือเครื่องพิสูจน์ 'มวลมหาน้ำใจ' ของคนไทย ที่ส่วนใหญ่คิดเหมือนกันว่า "การให้ คือ มหาทานบารมี" อันไม่มีสิ้นสุด