หน่วยลาดตระเวนแถวหน้าสุดแห่งสมรภูมิโควิด19 ที่พกเพียง 'สเปรย์-เจล-หน้ากาก' และ 'หัวใจ'

ขณะที่ประเทศไทยเผชิญหน้ากับโควิด-19 จนมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง บทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คือส่วนสำคัญของระบบสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งร่วมรณรงค์ข้อมูลสุขภาพ รวมทั้งช่วยป้องกัน และควบคุมโรคในสถานการณ์ไม่ปกติ

หากเปรียบนายกรัฐมนตรี - ผู้นำประเทศ เป็นแม่ทัพบัญชาการรบพุ่งกับโควิด-19 บรรดาคณะแพทย์รอบโต๊ะศูนย์บริหารราชการฯ (ศบค.) เสมือน เสธ. ระดมสมองวางแผนหาหนทางสู้ หน่วยลาดตระเวนแถวหน้าสุดในสมรภูมิ ที่พกเพียงสเปรย์ และเจลแอลกอฮอล์ มีหน้ากากอนามัย และ Face Shield เป็นเกราะป้องกันตน ท่านเหล่านี้คือ อสม. ผู้ออกตรวจตรา (เคาะประตู) บ้าน ด้วยอาวุธอันจำกัดจำเขี่ย ทั้งรู้ดีแก่ใจว่าพวกตนมีสิทธิ์ติดเชื้อถึงตายตลอดเวลา โดยหากแม้นปราศจากแนวหน้านี้ ศึกคราที่ผ่านมานั้นคงจะพบเพียงความปราชัย

องค์กร อสม. เกิดจาก ‘งานสาธารณสุขมูลฐาน’ คือ ‘ชาวบ้าน’ ที่สนใจในทุกข์สุขของ ‘ชาวบ้าน’ ด้วยกัน ต่างคนต่างเคย ‘ร่วมมือ - ช่วยเหลือ’ งานสาธารณสุข เช่น จัดหาเด็กมาฉีดวัคซีน แนะนำคนไข้ให้มาพบเจ้าหน้าที่ที่สถานีอนามัยเพื่อรักษาพยาบาล จนกระทรวงสาธารณสุขได้นำเอาลักษณะงานดังกล่าว ปรับเป็นกลวิธีหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) โดยสนับสนุนงานสาธารณสุขมูลฐานครอบคลุมทั้งประเทศ และส่งเสริมชุมชนให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของชุมชนเอง

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 มีการยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุข - อสม. ที่ต่างก็ออกแรงเสียสละทั้งกายใจ เวลา อีกทั้งทุนทรัพย์ดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้าน จนพึ่งพาตนเองได้โดยมิเคยได้รับค่าตอบแทนใด ๆ กระทั่งช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขจึงอยากตอบแทน อสม. ทั้ง 1.04 ล้านคนทั่วประเทศ 1,000 บาทต่อเดือน และได้รับอีก 500 บาทเพิ่มเป็นสินน้ำใจ

ตลอดระยะเวลายาวนานเกินกว่าสี่สิบปี พี่ ป้า น้า อา อสม. มีส่วนร่วมช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพอนามัยดีขึ้น ช่วยประเทศชาติลดค่ารักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็นลง ดังคติพจน์ "แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี"

สี่ทศวรรษแห่งศักดิ์ศรีที่ ‘กองทัพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน’ ออกช่วยเหลือคนในชุมชนจนห่างไกลจากโรคภัยต่าง ๆ จนถึงการเป็นแรงกำลังหลักปกป้องคนจากโรคระบาดใหม่ที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน

ขออนุญาตยกคำกล่าวยกย่องจากตัวแทนเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก ‘WHO’ ประจำประเทศไทย “อสม. เป็นบุคลากรหลักของชุมชน ที่ช่วยให้บริการจำเป็นทางสุขภาพต่าง ๆ ดำเนินไปได้โดยไม่สะดุดลง”

รัฐบาลไทยตระหนักถึงคุณค่า และคุณความดีของอาสาสมัครสาธารณสุขฯ จึงมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2536 กำหนดให้ทุกวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็น ‘วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ’