สำนักงาน ป.ป.ส. แถลงผลงาน หน่วย AITF จับกุมต่างชาติซุกยาเสพติดร่วม 79,200 เม็ด

(23 ม.ค.66) ณ ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส. นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส) พร้อมด้วย นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส., นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส., นายปฤณ เมฆานันท์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส., นางสาวกัญญนันทน์ คงภัสนิธิโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส., พล.ต.ต.พรพิทักษ์ รู้ยืนยง รอง ผบช.ปส., พล.ต.ณรงฤทธิ์ สุบิน ที่ปรึกษา ผบ.ศรภ, พ.อ.บุรี บุญวรรณ รอง ผอ.สำนักปฏิบัติการข่าว ศรภ., นายจิรวัฒน์ น้อยกลาง หัวหน้าฝ่ายสืบสวนปราบปรามที่ 1 ส่วนสืบสวนปราบปราม 3 กองสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร และ น.อ.ชนันนันธ์ รอดกุล ผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมแถลงข่าว หน่วยเฉพาะกิจสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยานสากล (Airport Interdictoin Task Force : AITF) ประกอบด้วย กรมศุลกากร, กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย และสำนักงาน ป.ป.ส. จับกุมชายชาวเอเชียใต้ พร้อมยึดวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 และประเภท 4 รวมของกลางจำนวน 79,200 เม็ด 

โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม เจ้าหน้าที่หน่วย AITF พบการเดินทางของชายชาวเอเชียใต้ต้องสงสัยเดินทางจากเมืองการาจี เอเชียใต้ เข้าไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทราบชื่อว่า นาย ANSARI ANWAR อายุ 57 ปี จึงแสดงตัวขอทำการตรวจค้นกระเป๋าสัมภาระ จำนวน 3 ใบ ผลการตรวจค้น พบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 และประเภท 4 รวม 5 รายการ ของกลางทั้งสิ้น 79,200 เม็ด 

โดยแยกเป็น...
1. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 Methylphenidate Hydrochloride จำนวน 4,200 เม็ด
2. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 Zolpidem จำนวน 5,200 เม็ด
3. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 Alprazolam จำนวน 5,200 เม็ด
4. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 Zolpidem Tartrate จำนวน 23,800 เม็ด
5. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 4 Diazepam จำนวน 40,800 เม็ด

จึงควบคุมตัวแจ้งข้อกล่าวหาว่า นำเข้าวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 และประเภท 4 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และส่งตัวพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทผิดกฎหมายในประเทศไทย ส่วนใหญ่ลักลอบนำเข้าจากเอเชียใต้ที่เป็นแหล่งเคมี และวัตถุออกฤทธิ์แหล่งใหญ่ของภูมิภาค สำหรับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติชาวเอเชียใต้ที่เข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทย พบความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหลายอย่าง ทั้งการจัดทำ/ค้าเอกสารเดินทางปลอม ปลอมแปลงเอกสาร ขบวนการนำพา/ค้ามนุษย์ และค้ายาเสพติด โดยเริ่มพบลักลอบนำวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเข้าไทยเมื่อปี 2540 จากสถิติของสำนักงาน ป.ป.ส. ตั้งแต่ปี 2561 - 2565 มีการจับกุมชาวเอเชียใต้ รวม 8 คดี ผู้ต้องหา 9 คน ของกลาง คีตามีน 31.22 กิโลกรัม โคเคน 2.4 กิโลกรัม เฮโรอีน 1.1 กิโลกรัม ไอซ์ 6.5 กรัม ยาบ้า 8 เม็ด”

เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังได้กล่าวเตือนว่า “วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีอันตราย จึงต้องควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด ซึ่งการออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เมื่อเสพในระยะเวลานานจะทำให้ติด ประสบกับสภาวะโรคจิตได้ และการใช้วัตถุออกฤทธิ์นี้รวมกับยาเสพติดอื่นหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ อันตรายถึงชีวิตจากภาวะการหยุดหายใจ เช่นที่เคยพบในกรณี ‘ยาเคนมผง’ ที่มีส่วนผสมของ Diazepam และมีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาดังกล่าว โดยการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยไม่ได้รับอนุญาต ที่เป็นการกระทำดังอันก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนมีโทษ จำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท - 1,500,000 บาท วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ต้องระวางโทษจาคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท


เรื่อง: เอก วงษ์อารีย์ Content Manager