'ศ.ธงชัย' แนะ!! ลดสูบน้ำเสียเข้าสวนเบญฯ ช่วยแก้น้ำเหม็นคลุ้งจากระบบสวนบำบัด

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีกระแสถึงผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กรณีมีประชาชนได้โพสต์ถึงประเด็น น้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็นที่สวนเบญจกิติ ซึ่งส่งผลรบกวนคนที่เดินทางมาเยี่ยมชมสวนและลดทอนความสุนทรีย์อันพึงได้จากการมาเดินเล่นที่สวนนี้

หลังจากนั้นทางกทม. ก็ออกมาชี้แจงว่า ในบริเวณดังกล่าวของสวนที่มีกลิ่นเหม็น เป็นเพราะนำน้ำที่เหม็นเหล่านี้มาจากคลองไผ่สิงโต มาบำบัดในระบบธรรมชาติโดยการใช้พืชน้ำบำบัด จากนั้นจะส่งน้ำไปตามแต่ละบ่อจึงทำให้น้ำภายในสวนนั้นมีกลิ่นบ้าง แต่ทางกทม. ก็ได้จัดเจ้าหน้าที่มาคอยตรวจสอบเสมอ ว่าหากพบจุดไหนน้ำมีความเข้มข้นมากส่งกลิ่นเหม็น ก็จะนำน้ำจากบ่อมาเติมเพื่อให้ความเข้มข้นและกลิ่นเหม็นจางลง

และล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 66 ทาง กทม. และ ทบ. อาสาร่วมมือกันนำน้ำมารถเฉพาะพื้นที่ เพื่อให้ต้นไม้เกิดความชุ่มชื้น และจัดเครื่องสูบน้ำ เพิ่มเติม 3 ชุด เพื่อสูบน้ำเข้าระบบบึงบำบัด และสระน้ำสวนป่า ทำให้บริเวณบ่อ 3 ที่เกิดปัญหา มีความเข้มข้นน้อยและกลิ่นเหม็นจางลง พร้อมจัดรถน้ำ รดต้นไม้บริเวณพื้นที่ส่วนใช้งานทั่วไป จำนวน 9 คัน ยังนำกำลังพลจิตอาสากองทัพบก จัดจาก พล.ช.กช. และ พล.พัฒนา 1 พร้อมรถบรรทุกน้ำ จำนวน 4 คัน และรถดับเพลิงในอาคารควบคุมระยะไกล จำนวน 2 คัน นำมารดน้ำต้นไม้ ในสวนป่าเบญจกิติ จำนวน 12 เที่ยว ปริมาณ 72,000 ลิตร 

ทั้งนี้ทางด้าน ศ.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ อดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้ว่า สวนนี้ตนเคยไปมาสามสี่ครั้งแล้วชอบมาก ชอบทั้งการเข้าถึงได้ง่ายด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้พลังงาน ลดฝุ่น ลดมลพิษ PM2.5 รวมไปถึงความแตกต่างจากสวนสาธารณะทั่ว ๆ ไป 

ทางสวนเบญจกิติมีความประสงค์ดีที่จะเอาพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ในสวนมาเป็นระบบบำบัดน้ำเสีย ทำให้เป็นต้นเหตุเกิดการอภิปรายแลกเปลี่ยนของแนวคิดนี้ เพราะเมื่อสวนมีระบบบำบัดน้ำเสีย ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้

และเกิดความเห็นว่ามันใช่บทบาทหน้าที่ของสวนสาธารณะหรือเปล่า ที่จะมาบำบัดน้ำเสียของเมือง ทำไมไม่ไปบำบัดตั้งแต่บ้านหรือที่ชุมชน ทำไมผู้บริหารเมืองไม่จัดการตั้งแต่ต้นทาง 

ซึ่งศ.ธงชัย ก็อธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นสวนบำบัดว่าสวนน้ำที่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบนี้ทางวิชาการเรียกว่า “ระบบบึงประดิษฐ์ หรือ constructed wetland” แต่ที่สวนเบญจกิติได้ออกแบบให้น้ำไหลคดเคี้ยวไปตามทางน้ำแคบ ๆ จะเรียกว่า channel flow นี่ทำให้ประสิทธิภาพของระบบนี้ดีขึ้น แต่ข้อเสียของระบบนี้คือ น้ำเสียจะข้นที่ต้นทางกว่าที่ปลายทาง ทำให้น้ำมีสภาพเน่าเหม็นที่ต้นทาง

โดยปัญหาแท้จริงคือ ตัวระบบบำบัดฯ หรือบึงประดิษฐ์นี้มีขนาดเล็กไป หรือพูดอีกอย่างคือน้ำเสียที่คลองไผ่สิงโตข้นไป โดยตนคิดว่าสวนเบญจกิติ ถูกออกแบบมาเพียงแค่ช่วยให้สภาพน้ำโดยทั่วไปในคลองไผ่สิงโตดีขึ้นบ้าง ไม่ได้ให้รับน้ำเสียทั้งหมดจากคลอง

วิธีแก้คือ การลดปริมาณการสูบน้ำเสียเข้าสวนน้ำหรือบึงฯ ลง ให้ปริมาณความสกปรกของน้ำเสียไม่เกินขีดความสามารถของบึงฯ วิศวกรน้ำเสียหรือ wastewater engineer ของ กทม.น่าจะช่วยได้และให้ความเห็นว่าควรสูบน้ำเสียเข้ามาเท่าไร จึงไม่ก่อให้เกิดกลิ่นรบกวนผู้มาเที่ยวสวน 

นี่เป็นความเห็นอีกด้านของนักวิชาการ สุดท้ายแล้วหากกทม.ยังมองว่า สวนนี้ออกแบบให้เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไข ให้ธรรมชาติบำบัดไปเอง 

แต่หากกทม. มองเป็นประเด็นที่ว่าบทบาทหน้าที่ของสวนสาธารณะ ไม่ควรจะมาบำบัดน้ำเสียให้กับเมือง กทม.ต้องกลับไปคิดใหม่แล้วว่า จะแก้ไขปัญหาเพิ่มอย่างไรดี หรือจะแค่รอให้ทหารนำน้ำมาเติมบ่อ 3 ให้กลิ่นลดลงทุกปี


เรื่อง: วายุ เอี่ยมรัมย์ Content Editor


ที่มา: https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7453411

https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1047582