'บอนนี่-ไคลน์' คู่รักนักปล้น จอมสร้างกระแส ฆ่าตำรวจ 12 ราย แต่ผู้คนมากมายก็ยังชื่นชม

หลายคนสงสัยว่า ทำไมคนจำนวนมากถึงนิยมชมชอบอดีตนักโทษที่มีคดีความเป็นชนักติดหลัง หรือชอบคนดีแต่พูด แต่ไม่ทำงานใด ๆ ให้ปรากฏเป็นชิ้นเป็นอัน 

อย่าได้แปลกใจ!!

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการตลาดล้วน ๆ มีการสร้างกระแสให้คนนิยมชมชอบ จนเชื่อฟังทุกคำพูดอย่างว่าง่าย กลายเป็นแฟนคลับเหนียวแน่นจนเถียงแทนทุกคำ     

เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วนในอเมริกา โดยตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดคดีหนึ่งคือ 'คดีคู่รักนักปล้น' บอนนี่และไคลน์ (Bonnie and Clyde)

ช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำในอเมริกาหรือเรียกว่ายุค The Great Depression หรือช่วงปี ค.ศ.1929 นั้น อเมริกันชนตกงานกันเป็นเบือ ผู้คนยากจนอย่างฉับพลัน ธนาคารหลายพันแห่งของสหรัฐอเมริกาล้มละลาย ตามภาคอุตสาหกรรมและตลาดหุ้น ผู้คนหลายล้านคนสูญเสียเงินและตกงานจำนวนมาก  

ระหว่าง ค.ศ. 1929-1932 รายได้ประชาชาติ (National Income) ของประเทศลดจาก 81,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ เหลือเพียง 41,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ ธุรกิจกว่า 8,500 แห่งเลิกกิจการ คนตกงานกว่า 1.5 ล้านคนในค.ศ. 1929 เพิ่มเป็น 15-16 ล้านคน 

ช่วงเวลาอันลำเค็ญเช่นนี้ เมื่อดาวโจนส์ร่วง ดาวโจรก็รุ่ง!!

โจรนอกกฎหมายผุดขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งคู่รักนักปล้นคู่หนึ่งที่ชื่อ 'บอนนี่กับไคลน์' ที่แม้จะทำเรื่องเลว ๆ อย่างไม่น่าให้อภัย แต่อเมริกันกลับรักใคร่ชื่นชม นายและนางโจรคู่นี้ราวกับซุปเปอร์สตาร์ ไปไหนมาไหนมีแต่คนรักใคร่ปกป้อง จนลืมไปว่าทั้งคู่เป็นโจรปล้นฆ่าตำรวจถึงสิบสองคน

ตามประวัติแล้ว 'บอนนี่ พาร์กเกอร์' และ 'ไคลด์ แบร์โรว์' เป็นคู่ผัวตัวเมียหน้าตาดี ที่ปล้นดะรายทางตั้งแต่ปั๊มน้ำมันไปยันธนาคาร ร่ำลือกันว่าบางครั้งปล้นธนาคารแล้วเอามาแจกจ่ายคนยากจน     

โดนฝั่งบอนนี่เป็นสาวสวยตาสีฟ้าผมบลอนด์ที่ฝันอยากเป็นกวี แต่โชคชะตานำพาเธอมาพบกับหนุ่มรูปหล่อชื่อไคลน์ 

เมื่อทั้งคู่ได้กลายมาเป็นคนรักแล้ว ก็ก่อวีรกรรมร่วมกันปล้น จนเป็นที่กล่าวขวัญในความโหดเหี้ยม เพราะนอกจากปล้นแล้ว ยังฆ่าตำรวจตายไปถึง 12 คน แถมถ่ายรูปไว้ดูเล่นอีกต่างหาก

นอกจากเป็นโจร บอนนี่ยังเขียนบทกวีส่งไปลงตีพิมพ์บ่อย ๆ พร้อมถ้อยคำหยิกแกมหยอก ทำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการปล้นหลงรักเธอทั่วหน้า ที่กระฉ่อนโลกสุด ๆ คือ เธอมักถ่ายรูปในท่วงท่าต่าง ๆ ทั้งสูบซิการ์ก๋ากั่นควงปืนเก๋ไก๋ จนกลายเป็นขวัญใจหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น

ทุกคนหลงรักคู่รักนักปล้น อย่างชนิดที่เรียกว่าติดตามข่าวอย่างใจจดใจจ่อ พลางเอาใจช่วยให้คู่นี้รอดจากการถูกจับ ทั้งที่ก่อกรรมทำเข็ญไว้มากมาย ท้าทายกฎหมายบ้านเมืองที่สุด 

ทั้งนี้ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ปล้นหนักมือไปหน่อยจนประสบเหตุให้บอนนี่กลายเป็นคนขาเป๋ บรรดาสมาชิกแก๊งโจรอยากลากเธอออกจากกลุ่ม แต่ไคลน์ไม่ยอมเพราะรักสติปัญญาและความมีอารมณ์ขันของเธอ 

ส่วนไคลน์นั้นแม้จะชอบลักรถ แต่ก็มีน้ำใจพอที่จะทิ้งเงินเล็กๆ น้อยๆ ไว้ให้เจ้าของเป็นสินน้ำใจ เลยเปลี่ยนรถเป็นว่าเล่น อาจจะด้วยความที่ไม่อยากให้ตำรวจตามเจอ รวมทั้งชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยทำให้ทั้งคู่มีรถใหม่ตลอดเวลา

ทางการพยายามตามจับคู่รักนักปล้นคู่นี้ แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะทั้งคู่หูตาไวและมีสายคอยส่งข่าวตลอดเวลา แต่สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง แม้ระแวดระวังอย่างไร สุดท้ายทั้งคู่ก็หลงกลตำรวจจนได้ เพราะเจอมือปราบสุดเก๋า 'แฟรงค์ ฮาเมอร์' ที่พวกตำรวจหนุ่ม ๆ ยิ้มหยันในความหัวโบราณ แต่สุดท้ายแฟรงค์พิสูจน์ให้โลกรู้ว่าแก่แต่เก๋าเป็นอย่างไร เพราะสามารถล่อรถที่บอนนี่และไคลน์มาให้ยิงพรุนนับร้อยรู

โดยเช้าตรู่วันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1934 เจ้าหน้าที่ในทีมของแฟรงค์ซุ่มรออยู่ในป่าละเมาะข้างทางมาทั้งคืน สายข่าวแจ้งมาว่าทั้งคู่กำลังมุ่งหน้ามาทางนี้ เมื่อทั้งคู่ขับมาถึงบริเวณที่ดักซุ่ม แฟรงค์ก็เดินก๋าออกไปดักหน้ารถ ยังไม่ทันที่จอมโจรจะหันไปคว้าปืน หน่วยของแฟรงค์ที่ซุ่มรอก็ระดมยิงไม่ยั้งมือ

ทั้งคู่เสียชีวิตทันที ปิดฉากคู่รักนักปล้นวัยเยาว์ ไคลด์ แบร์โรว์ วัย 25 และ บอนนี่ พาร์กเกอร์ วัย  23 ปี นับว่าอายุยังน้อยเหลือเกิน เมื่อเจ้าหน้าที่ลากรถที่พรุนด้วยรอยกระสุนและศพทั้งคู่เข้าเมือง ชาวเมืองต่างแห่กันมาดูศพอย่างคับคั่ง บางคนพยายามโอบกอดศพและร้องไห้ บางคนก็รุมทึ้งสิ่งของเครื่องใช้จากศพไปเป็นที่ระลึก 

ความหลงใหลในตัวคู่รักจอมโจรไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น หากแต่มีชีวิตโลดเต้นบนแผ่นฟิล์มหลังจากนั้น เรื่องราวของบอนนี่และไคลด์ได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Bonnie and Clyde ในปี ค.ศ.1967 โดยถ่ายทำในสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของคนทั้งคู่ได้รับการเล่าขานต่อมาจนถึงปัจจุบัน


เรื่อง: เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้