‘รวบอธิบดีกรมอุทยานฯ - แต่งตั้งอธิบดีกรมฝนหลวง’ 2 เหตุการณ์ร้อน สะท้อนตำแหน่งแห่ง ‘ผลประโยชน์’

หนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันนี้พากันพร้อมใจพาดหัวข่าวใหญ่เกี่ยวกับอธิบดีกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘รวบอธิบดีกรมอุทยานฯ หรือ ครม.เดือด แต่งตั้งอธิบดีกรมฝนหลวง’

ประเด็นแรกคือ เช้าของวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ตำรวจจากกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) บุกเชิญตัว นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในระหว่างการประชุมร่วมกับผู้บริหารส่วนต่าง ๆ ของกรมอุทยานฯ ทั่วประเทศ ที่อาคารสืบนาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร และเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมฯ อีกจำนวนมากรอมอบของขวัญปีใหม่ ถือว่าสั่นสะเทือนกรมอุทยานฯ อย่างยิ่ง

นายรัชฏา โดนข้อหา ‘เป็นเจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริต’ ถือว่ารุนแรงอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ จากการตรวจค้นห้องทำงานของ นายรัชฎา ยังพบเงินสดประมาณ 5 ล้านบาทอยู่ในตู้เซฟ และส่วนหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะทำงาน ตำรวจจึงทำการยึดไว้ตรวจสอบต่อไป แต่นายรัชฏายังให้การปฏิเสธอยู่ และจะให้การในชั้นศาล

กล่าวสำหรับนายรัชฏาเป็นน้องชายคนเล็กของ พล.อ.ยุวนัฏ สุริยกุล ณ อยุธยา เตรียมทหารรุ่น 12 เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ภายหลังได้ขอลาออกเนื่องจากเหตุผลได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ แทนนายธัญญา เนติธรรมกุล (วน.47) อธิบดีคนเก่า ที่หมดวาระเนื่องจากดำรงค์ตำแหน่งมาครบ 8 ปี และเป็นการได้รับการแต่งตั้งท่ามกลางข้อครหาความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจกันเองของศิษย์วนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

นี่คือข่าวที่ครึกโครมชิ้นแรกเกี่ยวกับอธิบดี ส่วนอีกประเด็นคือการแต่งตั้งอธิบดีกรมฝนหลวง ช่วงหนึ่งที่ประชุม ครม.หารือถึงวาระการแต่งตั้ง อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม 

ซึ่งนายสุพิศนั่งเป็นรองอธิบดีอยู่แล้ว และเป็นชาวจังหวัดสงขลาบ้านเดียวกับ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่นายสุนทร ปานแสงทอง รมช.เกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีมือใหม่ ได้ยกมือทักท้วงไม่เห็นด้วย นายกฯ ถามไปยังเลขาฯ ครม.ว่า สามารถทักท้วงในที่ประชุมได้หรือไม่ โดยเลขาฯ ครม. ชี้แจงว่า ทำได้ จากนั้นที่ประชุมผ่านการพิจารณาเรื่องดังกล่าวไปประชุมเรื่องอื่นต่อ 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นหารืออีกครั้งโดยระบุว่า ตนกำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ และได้โทรศัพท์พูดคุยกับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ยืนยันเสนอชื่อ นายสุพิศ  ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แย้งว่า ตำแหน่งอธิบดีกรมฝนหลวงฯ เป็นโควตาในกำกับของรัฐมนตรีพลังประชารัฐ และได้ตกลงกับนายเฉลิมชัย แล้วว่าจะเป็นคนอื่น 

ถือเป็นเรื่องตลก และไร้มารยาทมาก ๆ ของ พล.อ.ประวิตร กับการ กล่าวอ้างว่า ตำแหน่งอธิบดีกรมฝนหลวง เป็นโควตาของพรรคพลังประชารัฐกลางวงประชุม ครม.ซึ่งเป็นเรื่องไม่ควรพูดในฐานะเป็นผู้ใหญ่ในรัฐบาลด้วย ที่สำคัญกระทรวงเกษตรฯ บริหารโดยพรรคประชาธิปัตย์ มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล นายสุนทรในฐานะรัฐมนตรีหน้าใหม่ก็ไม่ควรอย่างยิ่งกับการเสนอแย้ง

งานนี้ต้องชื่นชม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่กล้าออกมาให้ความเห็นว่า ในที่ประชุมครม. เป็นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรยกเรื่องโควตาพรรคมาพูดกัน และตามกฎหมายผู้มีอำนาจแต่งตั้งอธิบดีคือปลัดกระทรวงเกษตรฯ อันเป็นความเห็นที่ดักคอพี่ ป.ประวิตร

นายกรัฐมนตรีได้ตัดบทให้ผ่านเรื่องนี้ไปก่อน ทำให้การแต่งตั้งอธิบดีกรมฝนหลวงยังคงค้างคาอยู่ และประเด็นความขัดแย้งใน ครม.เป็นเรื่องผลประโยชน์ของบุคคล / กลุ่มบุคคล ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร แถมยิ่งการแต่งตั้งล่าช้าประชาชนจะเสียประโยชน์ด้วยซ้ำ 

หรือว่าตำแหน่งระดับอธิบดี หรือระดับ 10 เดิม เป็นตำแหน่งที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ ทำให้ใคร ๆ ก็อยากเป็น หรืออยากเอาคนของตนเองไปวางไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ป้อนกลับมาสู่วงจรทางการเมือง หรือใครว่าไม่จริง 


เรื่อง: นายหัวไทร