วาทกรรมอำพราง สูตรสำเร็จนักการเมืองที่ใช้ครองใจมวลชน แต่ผลกรรมตกอยู่ที่ประชาชนร่ำไป

จากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองโดยมีประชาชนเป็นแกนหลัก ภายใต้นาม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ (พธม.) ตั้งแต่กลางสมัยรัฐบาล ‘ทักษิณ 1’ ต่อเนื่องกระทั่งประเทศไทยเดินเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2549 สังคมไทยเริ่มถูกแบ่งด้วยขั้วการเมืองออกเป็นสองฝักฝ่ายอย่างชัดเจน เป็นเหตุให้ความสามัคคีของชนชาวสยามซึ่งพร้อมจะขาดผึงอยู่รอมร่อถูกทุกทำลายลงอย่างไร้หนทางหลีกเลี่ยง

เริ่มจากมีคนกลุ่มคน ‘สวมเสื้อสีแดง’ เข้าลอบทำร้ายผู้ชุมนุมพันธมิตรซึ่ง ‘สวมเสื้อสีเหลือง’ อันมีนัยหมายถึง ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อในหลวงรัชกาลที่ 9

ลองไปหาดูได้ไม่ยากว่าสีแดงแรกเริ่มนั้นสกรีนบนอกเสื้อว่าอะไร

แม้ดูเหมือนความชุลมุนจะจบลงที่เหตุรัฐประหาร 29 กันยายน ของปีเดียวกัน โดย ‘คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ’ (คมช.) ความระส่ำระสายแตกแยกของผู้คนก็ไม่มีทีท่าเบาบางจางลงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับมีมวลชนจัดตั้งจากฝ่ายการเมืองผู้สูญเสียผลประโยชน์ โดยตั้งเป้าหลักคือต่อต้านการยึดอำนาจ เริ่มจากกลุ่มคนเล็กๆ ปราศรัยในสนามหลวง จนเติบโตกลายเป็น ‘กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ’ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง

เข็นเสื้อแดง นปช. ออกมาชนเสื้อเหลือง พธม. อย่างเต็มรูปแบบ

สร้าง ‘ตีนตบ’ (พลาสติก) ออกมาฉะสู้กับ ‘มือตบ’ ประมาณนั้น

สิ่งเหล่านี้ล้วนคือน้ำมือนักการเมืองผู้กระสันแย่งชิงความได้เปรียบทั้งสิ้น

แม้กลุ่มคนผู้รวมตัวเรียกร้องทางการเมืองในภายหลัง ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็น ‘ประชาชน’ ที่รับรู้ทั่วไปว่ามาจากการ ‘จัดตั้ง’ โดยกลุ่มนักการเมืองผู้สูญเสียประโยชน์และอำนาจยืนกำกับการแสดงอยู่เบื้องหลัง และหันมาใช้วิธีการดั้งเดิม คือ สร้างสูตรสำเร็จทางความเชื่อด้วย ‘วาทกรรม’

นักการเมืองไทยทุกยุคทุกสมัยรู้ดีว่า ‘วาทกรรม’ คือ ‘สูตรสำเร็จของการครองใจคน’ เปรียบประดุจอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน โดยผู้บริโภคไม่ต้องคอยกังวลใส่ใจว่าส่วนผสมหรือกรรมวิธีการปรุงนั้นมีที่มาอย่างไร เพียงแค่ผลิตป้อนให้รสชาติอร่อย ‘แซบ ลำ นัว หรอย’ ถูกปากถูกใจ (สาวก) เป็นพอ

คำ ‘ไพร่ อำมาตย์ และฝ่ายประชาธิปไตย’ จึงถือกำเนิดจนถูกจดจำนำมาใช้ต่ออย่างแพร่หลายยาวนาน นั่นเพราะ ‘วาทกรรม’ บริโภคง่ายไม่ต้องอาศัยกระบวนการทางความคิดมาบดย่อยให้ยุ่งยาก ไม่ต่างจากเหตุการณ์ต่อสู้ชิงอำนาจ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ กับ ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ ยุค พ.ศ. 2475 ที่ใช้การแจก โปรยใบปลิวตามท้องถนน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นวาทกรรมบิดเบือนให้ร้าย และถูกผลิตจากโรงงานการเมือง

ศ.ดร.ธีรยุทธ บุญมี อดีตแกนนำนักศึกษา และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย เคยกล่าวถึงเรื่องวาทกรรมไว้อย่างน่าสนใจว่า “...น่าเป็นห่วงวิกฤติรอบใหม่ในลักษณะวาทกรรมที่จะรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ และจะค่อยทำลายคนที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มอื่น หรือคนอื่น ทีละเล็กทีละน้อย”

หมายความว่าผู้เห็นต่างจำต้องถูกทำลายด้วยวาทกรรมของอีกฝั่ง โดยคำ เสื้อเหลือง เสื้อแดง สลิ่ม สามกีบ ฯลฯ ก็ย่อมเกิดขึ้น (และตามมา) ไม่รู้จบ ผ่านสิ่งซึ่งมาแทนที่ใบปลิว และวิทยุชุมชน นั่นก็คือ ‘แพล็ตฟอร์มสื่อสารสังคม’ หรือ ‘Social Media’ นั่นเอง

จากจำนวนบัญชีเฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) เพียงไม่กี่หมื่นรายในปี 2010 (พ.ศ. 2553 - ยุคล็อคอินจากเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี) สู่ 51 ล้านบัญชี ณ วันที่สมาร์ตโฟนครองโลก บวกทวิตเตอร์ 7.35 ล้านบัญชี, ยูทิวบ์ 37.3 ล้านบัญชี ตามด้วยอินสตาแกรมอีกไม่มากไม่น้อย 16 ล้านบัญชี (ข้อมูล ณ ปัจจุบัน)

พอจะจินตนาการได้หรือไม่ว่าปริมาณและผลกระทบจาก ‘วาทกรรมสำเร็จรูป’ หรือบ่อยครั้ง ‘เฟกนิวส์’ ที่เคยแอบซ่อนอยู่เพียงมุมหลืบเร้นของอคติคน กลับกลายเป็นผลอ่อนที่ทำให้สื่อกระแสหลักมักเอาไปต่อยอดสร้างงาน สร้างรายได้ จนสุดท้ายก็คือบันไดหินอ่อนเนื้อดีปูทางก้าวสู่อำนาจของนักการเมืองทุกระดับ

นักการเมืองสร้าง ‘วาทกรรม’ เพื่อให้ประชาชนรับ ‘ผลกรรม’

ประชาชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ยังไม่สำเหนียกถึงการหลงเชื่อวลีจอมปลอม ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ถึง ‘บกพร่องโดยสุจริต’ ว่าคำแก้ตัวอันแสนปลิ้นปล้อนจำพวกนี้ ก่อกรรมทำร้ายประเทศชาติจนบอบช้ำมาเท่าไรแล้ว

ปีหน้าฟ้าไหนจะเลิกให้เขาหลอก!


เรื่อง : พรชัย นวการพิศุทธิ์