ปัญหาซ้ำซาก!! โกงข้อสอบนายสิบครั้งแล้วครั้งเล่า ‘ปัญหาใหญ่’ ที่ผู้ใหญ่ ‘มองไม่เห็น’

คดีทุจริตสอบนายสิบตำรวจ ปี พ.ศ. 2565 ที่กำลังเป็นข่าวและได้รับความสนใจจากประชาชนในปัจจุบัน คดีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการทุจริตในแวดวงตำรวจ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2555 แวดวงสีกากี ก็มีเรื่องด่างพร้อยเกิดขึ้น เมื่อมีการตรวจพบการทุจริตสอบนายสิบตำรวจในปีนั้น ซึ่งมีผู้สมัครสอบกว่า 300,000 คน สามารถบรรจุเป็นตำรวจได้เพียง 10,000 คนเท่านั้น ทำให้การแข่งขันสูงมากผู้สอบบางคนกลับใช้ทางลัดเพื่อให้ได้เข้าสู่วงการตำรวจ ในปีนั้นพบการทุจริต 2 สนามสอบใหญ่ๆ คือ ที่ชลบุรี และ นครราชสีมา มีนักเรียนซุกซ่อนเครื่องรับสัญญาณระบบสั่นขนาดเล็ก ไว้ในอวัยวะเพศ และทวารหนัก เข้าไปในสนามสอบ ใช้สัญญาณมือถือแปลงเป็นสัญญาณวิทยุ มีคนนำเสาสัญญาณพกติดตัว ไปยืนบริเวณสนามสอบไม่เกิน 300 เมตร เพื่อส่งคำตอบด้วยระบบสั่นเข้าไปในเครื่องมือที่ซุกซ่อนไว้ 

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2559 มีการสอบคัดเลือกบุคคลภายนอกเป็นนายสิบตำรวจ ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ที่มีผู้สมัครเข้าสอบทั้งหมด 13,285 คน โดยมีผู้ผ่านสอบข้อเขียน 1,800 คน ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560 เจ้าหน้าที่เรียกตัวนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวม 4 คน มาสอบปากคำ หลังสงสัยว่าร่วมทำการทุจริต หลังคณะกรรมการนำกระดาษข้อสอบและกระดาษคำตอบทั้งหมดมาตรวจสอบครั้งสุดท้าย ก่อนพบความผิดปกติในกระดาษคำตอบ เนื่องจากพบว่าผู้ที่ได้คะแนนน้อยสุดกลุ่ม 50 คนสุดท้าย ได้เพียง 13 คะแนนจากคะแนนเต็ม 150 คะแนน ทั้งที่ประวัติการศึกษาของคนกลุ่มดังกล่าวอยู่ในระดับดี แต่กลับทำคะแนนในข้อสอบได้น้อยเกินไป และเมื่อตรวจสอบกระดาษข้อสอบมีร่องรอยการทดเลข และเขียนคำตอบเฉลยไว้ถูกหมดทุกข้อ ต่างจากคะแนนที่ได้ และคำตอบก็มีขนาดใหญ่ผิดปกติ สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล เจ้าหน้าที่จึงเชื่อว่ามีขบวนการเข้าไปร่วมสอบ เพื่อเฉลยข้อมูลแก่ผู้เข้าสอบรายอื่นๆ 

และล่าสุดการทุจริตสอบนายสิบตำรวจ ปี พ.ศ. 2565 ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ เผยความคืบหน้าการสอบสวนว่ามีความคืบหน้าไปพอสมควร เบื้องต้นได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าไปดูแลหากพบว่ามีใครเข้าข่ายในการกระทำความผิด จะมีการดำเนินคดีทั้งหมด สำหรับกรณีการทุจริตในครั้งนี้ เกิดขึ้นในพื้นที่ ภาค 9 และ ภาค 5 โดยมีความใกล้เคียงกัน คือ มีการนำข้อสอบออกไปจากห้องเก็บ แล้วนำไปทำเฉลยก่อน และอาจมีการซุกซ่อนนำไปใช้ในห้องสอบ ส่วนจะเกิดความผิดพลาดในส่วนไหน โดยส่วนตัวตนยังไม่ทราบชัดเจน แต่เท่าที่ได้รับรายงานเบื้องต้น อาจจะมีข้อสอบที่หลุดจากห้องเก็บข้อสอบ 

ดังนั้นเรื่องนี้ข้าราชการตำรวจน่าจะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย และนอกจากตำรวจยังมีกลุ่มบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการดำเนินการเป็นเครือข่าย เพราะต้องมีคนที่เก่งที่สามารถทำข้อสอบได้ด้วย เชื่อว่าเรื่องนี้มีผู้เข้าไปเกี่ยวข้องในหลายๆ ส่วน จากข่าวการโกงข้อสอบในลักษณะนี้ทำให้หลายคนนึกถึง ภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง เขียนบทและกำกับการแสดงโดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง นับตั้งแต่ออกฉายใน พ.ศ. 2560 ซึ่งเนื้อเรื่องของภาพยนตร์มีการนำเสนอกลโกงข้อสอบเพื่อสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสื่อความหมายเงิน คืออำนาจ ทีมข่าวจึงได้นำรูปแบบการโกงข้อสอบที่นำเสนอในภาพยนตร์มาเปรียบเทียบกับรูปแบบการทุจริตการเข้าสอบเป็นนายสิบตำรวจ ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ดังรายละเอียดนี้…

>> การทุจริตการเข้าสอบเป็นนายสิบตำรวจปี พ.ศ. 2555 
รูปแบบการโกงข้อสอบ คือ นักเรียนซุกซ่อนเครื่องรับสัญญาณระบบสั่นขนาดเล็ก ไว้ในอวัยวะเพศ และทวารหนัก เข้าไปในสนามสอบ ใช้สัญญาณมือถือแปลงเป็นสัญาณวิทยุ มีคนนำเสาสัญญาณพกติดตัว ไปยืนบริเวณสนามสอบไม่เกิน 300 เมตร เพื่อส่งคำตอบด้วยระบบสั่น เข้าไปในเครื่องมือที่ซุกซ่อนไว้
.
>> การทุจริตการเข้าสอบเป็นนักนายสิบตำรวจของตำรวจภูธรภาค 7 ปี พ.ศ. 2559
รูปแบบการโกงข้อสอบ คือ 1.ทุจริตโดยการลอกคำตอบจากผู้ให้ลอกคำตอบ
2.ผู้ควบคุมการสอบหย่อนยานในการควบคุมการสอบ และซื้อตัวผู้ควบคุมการสอบให้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมการสอบ
3.ข้อสอบรั่ว
4.ทุจริตโดยการสอบแทน, ซื้อตัวนักโปรแกรมเมอร์เพื่อให้รันเลขรหัสประจำตัวสอบให้อยู่ใกล้กันเพื่อลอกคำตอบ และซื้อผู้ตรวจข้อสอบให้เอื้ออำนวยกับตัวเอง
.
>> การทุจริตการเข้าสอบเป็นนายสิบตำรวจ ภาค 9, ภาค 5 ปี พ.ศ. 2565
รูปแบบการโกงข้อสอบ คือ 1.มีการนำข้อสอบออกไปจากห้องเก็บ แล้วนำไปทำเฉลยก่อน
2.อาจมีการซุกซ่อนนำไปใช้ในห้องสอบ
3.อาจจะมีข้อสอบที่หลุดจากห้องเก็บข้อสอบ
.
>> ภาพยนตร์ฉลาดเกมส์โกง ออกฉายปี พ.ศ. 2560
รูปแบบการโกงข้อสอบ คือ 1.ทุจริตโดยการสอบแทน โดยตัวละคร ลินและแบงค์ เดินทางไปสอบ STIC ซึ่งเป็นข้อสอบกลางทั่วโลก ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย แล้วส่งคำตอบผ่านแอปพลิเคชันไลน์ให้กับลูกค้าในไทย ซึ่งสอบช้ากว่า 4 ชั่วโมง

จากการวิเคราะห์ รูปแบบการโกงมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หาวิธีการป้องกันการทุจริตในแต่ละครั้ง ทำให้รูปแบบการทุจริตในครั้งต่อมาเปลี่ยนรูปแบบไป โดยเมื่อปี พ.ศ. 2555 กับปี พ.ศ. 2559 มีรูปแบบการทุจริตคล้ายคลึงกับเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ฉลาดเกมส์โกง ซึ่งมีการทุจริตโดยการสอบแทนแล้วส่งสัญญาณไปยังผู้สอบในรูปแบบต่างๆ ส่วนปี พ.ศ. 2565 มีการเปลี่ยนรูปแบบการทุจริตที่ไม่ซับซ้อนและไม่ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสาร แต่มีสิ่งที่สอดคล้องกันคือ มีข้อสอบรั่วออกมาเพื่อทำข้อสอบก่อนแล้วค่อยสื่อสารไปยังผู้สอบ แสดงว่าข้อสอบรั่วเป็นปัญหาใหญ่ มากกว่ารูปแบบของการโกง 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

จากประเด็นดังกล่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า... 

“การโกงมีหลายรูปแบบ การโกงเข้าเป็นตำรวจ การโกงข้อสอบ มีการโกงทั้งไม่มีการสอบด้วย เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องปฏิรูปตำรวจ ลองพิจารณาดูการสอบเอ็นทรานซ์คนสอบเยอะมากที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาการสอบ ส่วน ก.พ.ก็จัดสอบเยอะแต่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องข้อสอบรั่ว แต่พอสอบนายสิบตำรวจเกิดปัญหาบ่อยครั้ง แสดงว่าระบบในการสอบมีปัญหา คนที่เกี่ยวข้องไม่สามารถไว้ใจกันได้เลย 

“ส่วนคำถามที่ว่าทำไมคนถึงอยากเป็นนายสิบตำรวจถึงขั้นต้องโกงข้อสอบกันขนาดนี้ เพราะข้าราชการในปัจจุบันมีความมั่นคงกว่าเอกชนกี่เท่า ถึงจะเงินเดือนน้อย แต่ราชการเลี้ยงคน เลี้ยงยันพ่อแม่ครอบครัว เลี้ยงยันตายนะ งานเอกชนจะเลี้ยงยันสิ้นชีวิตเหรอเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นอยู่ที่ความคุ้มค่าของค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินเดือนเพียงอย่างเดียว คนที่สมัครสอบเค้าต้องประเมินแล้วว่าคุ้มไหม งานหนักไหม ถึงตัดสินใจสมัคร ซึ่งในปัจจุบันปัญหาของตำรวจ คือ ผู้มีอำนาจเห็นปัญหาของตำรวจจริงๆหรือไม่ซึ่งไม่สามารถตอบได้ 

“ส่วนรูปแบบการโกงข้อสอบนั้นผมคิดว่าในอนาคตจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วยความพยายามของผู้สอบและยิ่งถ้ามีตำรวจนอกแถวร่วมมือด้วยยิ่งไปกันใหญ่ เด็กมันจะโกงยังไง อย่างดีก็ชะเง้อดูเพื่อน แต่นี่เอาข้อสอบมาบอกล่วงหน้า ถามหน่อยว่ามันออกมาได้ยังไง ถ้าตำรวจมีปัญหาในการจัดสอบไม่สามารถทำให้สุจริตได้ ทำไมไม่ให้ สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้จัดการสอบ เพราะ ก.พ. จัดการสอบมา 30 กว่าปี ไม่เห็นเคยมีปัญหาเรื่องการสอบเลย เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ทุจริตแบบนี้ สร้างความเสียหายส่งผลกระทบต่อผู้สอบ คนสอบได้แล้วก็ต้องมาสอบใหม่อีก เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน” 


เรื่อง : วสันต์ มนต์ประเสริฐ Content Manager


อ้างอิง 
https://tna.mcot.net/crime-816864
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_172995