'รถไฟฟ้า' มาแน่!! หลัง รฟม.เปิดรับฟังความคิดเห็น เตรียมสร้างรถไฟฟ้านครราชสีมา สายสีเขียว

รฟม. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน - สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์)

วานนี้ (27 ตุลาคม 2565) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.)ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน - สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) โดยภายในงานมีผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่, ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ, ภาคเอกชน, องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจ รวมถึงสื่อมวลชนที่เข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน ณ ห้องสุรนารีบอลรูม โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบสรุปผลการเปรียบเทียบรูปแบบที่เหมาะสมในดำเนินงานโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในลำดับต่อไป

ทั้งนี้ รฟม. ได้พิจารณาผลการศึกษาเดิมของโครงการฯ เมื่อ ปี 2563 ซึ่งผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนโครงการฯ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) พบว่ามีมูลค่าการลงทุนสูง โดยที่รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบำรุงรักษา นอกจากนั้นกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายในปี 2564 ให้ รฟม. ศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค ดังนั้น รฟม. จึงได้ทบทวนรูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสม สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ฯ ประกอบด้วย 3 ระบบ ได้แก่...

1. ระบบรถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ (Electric Bus Rapid หรือ E-BRT)
2. ระบบรถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก (Street-running Light Rail หรือ Tram)    
และ 3. ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) 

ซึ่งการพิจารณาทางเลือกเทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะ ในเขตเมืองนครราชสีมานั้น ทาง รฟม. ได้การประเมินเทคโนโลยีและพิจารณาทางเลือกเทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีปัจจัยในการพิจารณ 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านวิศวกรรมและจราจร, ด้านเศรษฐกิจการเงิน และด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน เพื่อให้ได้ระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมในเขตเมืองนครราชสีมา สามารถพัฒนาเมืองนครราชสีมา และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับดำเนินงานก่อนขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป