‘เลขาสอบ.’ ผุดเอกสารหลุดควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ เชื่อ!! รวมกันเมื่อไร ศก.ดิจิทัลไทยล้าหลังเมื่อนั้น

มหากาพย์ดีลควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC ยิ่งลึกลับซับซ้อน!! หลังเฟซบุ๊ก ‘Saree Aongsomwang’ โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค หรือ สอบ.) ได้ออกมาเผยเอกสารหลุด เรื่องผลกระทบด้านต่างๆ ของไทย หาก ‘ทรู-ดีแทค’ สามารถควบรวมกิจการได้ โดยระบุว่า... 

มีเอกสารหลุดรายงานการศึกษาที่ กสทช. จ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ SCF Associates Ltd. ในเรื่องผลกระทบของการควบรวมค่ายมือถือทรู-ดีแทค ที่มีต่อสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม โอกาสการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ และสิทธิการเข้าถึงบริการของสังคม 

ซึ่งทำให้เห็นหายนะที่สังคมไทยจะต้องเผชิญหน้า หาก กสทช. มีมติอนุญาตให้เกิดการควบรวม  ที่ทำให้สามค่ายมือถือยักษ์ เหลือสองค่าย (ทรู+ดีแทค และ เอไอเอส) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้...

1. พื้นที่คนจน พื้นที่ห่างไกล ที่ที่ไม่สร้างผลกำไรจะไม่มีโครงข่าย หรือบริการใหม่ๆ เข้าไปถึง ซึ่งแปลว่า “คนจน คนชายขอบจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” โดนละเมิดสิทธิ์การเข้าถึงบริการคลื่นความถี่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ 

2. ในขณะที่กลุ่มรายได้สูง กลุ่มชุมชนเมืองที่จะสร้างกำไรสูงสุดให้สองค่ายที่เหลือในตลาด จะได้รับบริการโดยเฉพาะระบบ 5 จี อย่างเต็มประสิทธิภาพ กลุ่มคนรายได้ปานกลางและคนจนเมืองต้องจ่ายค่าบริการที่สูงเกินความจำเป็น กับเทคโนโลยีทันสมัย

3.  การควบรวมที่มีเหลือสองค่าย หรือ duopoly จะไม่เกิดการแข่งขัน และกลายเป็นระบบร่วมมือกัน หรือ "ฮั้ว" ไปในที่สุด ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในโครงข่ายสำหรับการให้บริการใหม่ๆ และ ลดการแข่งขันกันเอง

4.  การเข้าสู่ระบบสองค่ายหรือ duopoly จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศล้าหลัง ตามหลังประเทศฟิลิปปินส์ ที่ขณะนี้รั้งท้ายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

5.  จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสิบปีถึงจะสามารถพลิกฟื้นระบบตลาดสองค่ายนี้ กลับเป็นตลาดที่มีการแข่งขัน หรือเกิดคู่แข่งหน้าใหม่ในตลาด

ทันทีที่ข้อความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา ด้านนายไตรรงค์ ตันทสุข นักกฎหมาย ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน ก็ได้เข้าแจ้งความกล่าวโทษอาญากับนางสาวสารี และผู้เกี่ยวข้อง ข้อหาเผยข้อมูลลับทางราชการ โดยนายไตรรงค์กล่าวว่า ผลการศึกษาจากที่ปรึกษาต่างประเทศ SCF Associates Ltd. ถือเป็นความลับทางราชการ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของบอร์ด กสทช. จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลให้คนอื่นล่วงรู้ได้ 

ซึ่งคาดว่าใน 1-2 วันนี้จะยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อกล่าวโทษบุคคลและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป จากกรณีที่เผยแพร่ผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นความผิดฐานเปิดเผยความลับทางราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 , 86 , 164 และบิดเบือนข้อความจริงหรือนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พศ.2550 มาตรา 14

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจสงสัย ว่าแท้จริงแล้วมหากาพย์นี้ เริ่มต้นจากตรงไหนกันแน่ ทีมข่าว The States Times จะมาสรุปให้ทราบดังนี้... 

ปีที่แล้วได้มีข่าวออกมาว่าบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กำลังเจรจาซื้อกิจการบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ต่อมาสำนักข่าวรอยเตอร์ ก็ได้เผยว่า บริษัทแม่ของ DTAC กำลังเจรจากับ CP Group เกี่ยวกับการควบรวม DTAC เข้ากับ TRUE

ทางบริษัทแม่ของ DTAC ก็ออกมาแจ้งว่ามีการเจรจาจริง แต่ยังไม่แน่นอนว่าจะเจรจาสิ้นสุดตรงไหน เพราะมีข้อตกลงที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ขณะ CP Group ในตอนนั้นยังไม่มีการออกมาเคลื่อนไหวใด ๆ ถึงประเด็นนี้

ในช่วงนั้นก็มีกระแสฮือฮาเพราะหากดีลนี้สำเร็จ จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดในไทยอยู่ที่ 52%  ขณะ AIS ค่ายมือถือใหญ่อีกรายของไทย มีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 44% 

มีความคิดเห็นหลายฝ่ายได้ออกมาพูดถึง กระแสดีลกิจการเครือข่ายมือถือยักษ์ใหญ่สองเจ้า ว่าจะเป็นการผูกขาดกิจการหรือเปล่า 

หลังจากยืดเยื้อมาร่วมปี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ก็ได้กำหนดจัดประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาดีลดังกล่าวโดยเฉพาะ ในวันที่ 30 ตุลาคม 2565 

สรุปแล้วมหากาพย์ดีลควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC จะจบยังไงกันแน่? ต้องรอติดตามในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ครับ สุดท้ายท่านผู้อ่านมีความเห็นยังไงถึงกรณีนี้ มองว่าการควบรวมค่ายมือถือทั้งสอง เป็นการผูกขาดกิจการหรือไม่ สามารถแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันได้


อ้างอิง :
https://web.facebook.com/photo/?fbid=5769160989794598&set=a.115091461868274
https://www.kaohoon.com/breakingnews/563020
https://www.prachachat.net/ict/news-1083990
https://mgronline.com/politics/detail/9650000099231
https://thematter.co/brief/160797/160797