ปลัดมหาดไทย เดินหน้า เพิ่มความเข้มข้นการป้องกัน ปราบปรามยาเสพติด 5 มิติ

ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการต่อสู้กับยาเสพติดมาหลายสิบปี ด้วยประเทศไทย แวดล้อมไปด้วยกลุ่มค้ายาเสพติดที่แฝงตัวรายล้อมประเทศ ตามแนวชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ทางราชการไทยทราบดีว่าการปราบปรามเพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่เพียงพอ เพียงสงบลงเพียงชั่วระยะหนึ่ง ก่อนที่ขบวนการจะหวนกลับมาใหม่ในภายหลัง ด้วยวิธีการใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากเดิม

การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่เพียงจะส่งผลดีต่อสังคมโลก และประชาชนพลเมืองดีเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้องค์กรอาชญากรรมพัฒนามากยิ่งขึ้น ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้ส่วนราชการไทย มีความจำเป็นต้องปรับตัวตาม ไล่ให้ทันอาชญากร ปกป้องประเทศไทยจากภัยยาเสพติดที่พยายามหวนคืนมาทำลายประเทศไทย

รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญต่อการปกป้องประเทศจากภัยยาเสพติด ยกระดับพัฒนากฎหมายยาเสพติดให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เน้นยึดอายัดทรัพย์ผู้ค้า บำบัดผู้เสพ เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด มากกว่าการปราบปรามด้วยการใช้กำลังเพียงอย่างเดียว

เหตุการณ์สังหารหมู่ ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เป็นคดีสะเทือนขวัญคนไทยทั้งประเทศ ที่ถึงแม้ผลการชันสูตรศพผู้ก่อเหตุจะปรากฏว่าผู้ก่อเหตุมิได้เสพยาเสพติดในขณะก่อเหตุ แต่ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทำให้รัฐบาลเร่งทบทวนกระบวนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในทันที

กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบกิจการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ดำเนินการในทันที สั่งเรียกประชุมถกประเด็น ปรับปรุงมาตรการภาครัฐโดยให้ความสำคัญใน 5 มิติ เพื่อการป้องกันและปราบปรามที่ครอบคลุมดังนี้

1.) สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน

เผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับยาเสพติดผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมที่ดีในการหลีกเลี่ยง/ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

2.) ป้องกันยาเสพติด

ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด, การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนในการเฝ้าระวังและสำรวจตรวจหายาเสพติดและผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด, ตั้งจุดสกัด/จุดตรวจยาเสพติด โดยอาศัยความร่วมมือจากหมู่บ้าน/ชุมชน/ท้องถิ่นต่าง ๆ และการร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข่าวสารข้อมูลขบวนการยาเสพติด

อีกทั้งมีการสั่งการให้เพิ่มความเข้มข้นต่อการตรวจสอบบุคลากรภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อทำการจับกุมดำเนินคดีและบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด

3.) ปราบปรามยาเสพติด

ส่งเสริมความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้นเด็ดขาด ผ่านการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อสกัดกั้นการลักลอบนำเข้า/ลำเลียงยาเสพติดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ตั้งแต่ระดับชุมชนและหมู่บ้านขึ้นมา

4.) บำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด

เร่งการคัดกรองสืบหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพื่อนำตัวเข้าทำการรักษาบำบัด ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งกล่อมเกลาให้กลับตัวกลับใจ กลายเป็นพลเมืองดี ที่ไม่กลับไปข้องแวะกับยาเสพติดอีก

5.) ฟื้นฟูสังคม 

ช่วยเหลือ สงเคราะห์ และสนับสนุนอดีตผู้ป่วยติดยาเสพติด ที่ผ่านการบำบัดกล่อมเกลาให้กลายเป็นพลเมืองดีได้แล้ว สามารถกลับสู่สังคม ได้รับการพัฒนาทั้งที่การปรับปรุงที่อยู่อาศัย, ได้รับการศึกษาวิชาชีพ ตลอดจนติดตามดูแลช่วยเหลือ ให้พวกเขากลับมาเป็นพลเมืองดี ฟื้นฟูสังคมพัฒนาประเทศร่วมกันได้ต่อไป โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคประชาชน, องค์กร และมูลนิธิ

ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญต่อการปกป้องประเทศจากภัยยาเสพติดมาโดยตลอด มีการพัฒนาปรับปรุงหน่วยงานภาครัฐให้เท่าทันผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การถอดบทเรียนและการยกระดับมาตรการยาเสพติดของกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในครั้งนี้ เป็นการยกระดับมาตรการที่มีอยู่เดิมของรัฐบาลให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของสังคมไทย ให้สงบสุข พ้นจากภัยคุกคามของยาเสพติดมากขึ้นไปกว่าเดิม


ที่มา : ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี