เฉลย!! สารเคมีรั่วไหลจากโรงงานในนครปฐม สูดดมเข้าไป เป็นอันตรายกับเนื้อเยื่อปอด

เช้าวันที่ 22 กันยายน 2565 นอกจากจะเป็นวันที่ฝนตกปรอยๆ ในตอนเช้า อันเป็นสาเหตุที่ทำให้รถติดมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเมืองที่อยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเคยชินกันอยู่แล้ว ยังมีเหตุการณ์ที่น่าระทึกใจเพิ่มขึ้นมา นั่นก็คือ การได้กลิ่นเหม็นของสารเคมีบางอย่าง ที่มีลักษณะเหม็นคละคลุ้งไปทั่วคลอบคลุมพื้นที่หลายพื้นที่ เช่น อำเภอนครชัยศรี, อำเภอสามพราน, อำเภอพุทธมณฑล ของจังหวัดนครปฐม รวมไปถึงพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร เช่น เขตทวีวัฒนา และบางส่วนของอำเภอบางกรวย จังหวัดนครปฐม

โดยลักษณะของกลิ่น จะเป็นกลิ่นฉุน เหม็นเปรี้ยว และเมื่อสัมผัสนานๆ จะทำให้แสบตาได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้โรงเรียนหลายโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง มีคำสั่งให้หยุดการเรียนการสอน เช่น โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย, โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล จังหวัดนครปฐม เป็นต้น 

สำหรับสาเหตุการรั่วไหลของสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดนครปฐมนั้น มาจาก โรงงานบริษัทอินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรี จำกัด ที่ตั้งอยู่เลขที่ 535/8 หมู่ 4 ถนนเพชรเกษม ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งประกอบกิจการธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นใยประดิษฐ์   

จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 จังหวัดนครปฐม พบว่า สารเคมีที่รั่วไหลนั้นมีชื่อว่า ‘สารไดฟีนิลออกไซด์’ และ ‘สารไบฟีนิล’ ซึ่งเกิดการรั่วไหลบริเวณระบบหล่อเย็น (Cooling) ของกระบวนการผลิตพลาสติก โดยลักษณะของสารเคมีดังกล่าว เมื่ออยู่ในสถานะแก๊ส จะมีน้ำหนักเบา ทำให้สามารถลอยไปในอากาศได้เป็นระยะไกล ทำให้ผู้ที่อาศัยห่างจากแหล่งรั่วไหลหลายกิโลเมตรได้กลิ่น 

ทั้งนี้ สารดังกล่าวนั้นเป็นกลุ่มของสารเคมีประเภทไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมีธาตุคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบ โดยทั่วไปในธรรมชาติ จะพบสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเกิดอยู่ในแหล่งต่างๆ มากมาย เช่น ยางไม้, ถ่านหิน, ปิโตรเลียม, นอกจากนี้ยังมีสารประกอบไฮโดรคาร์บอนบางตัวที่ได้จากการสังเคราะห์ 

ยิ่งไปกว่านั้น สารเหล่านี้ บางชนิดถูกใช้เป็นส่วนประกอบของกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีแหล่งกำเนิดของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่สำคัญที่สุด คือ ‘ปิโตรเลียม’ ซึ่งอันตรายที่เกิดจากการสูดดมสารประเภทนี้ คือ เมื่อสูดดมเข้าไป จะทำให้เป็นอันตรายกับเนื้อเยื่อปอด เพราะมันจะไปละลายไขมันในผนังเซลล์ที่ปอด 

โดยในระยะแรกจะมีอาการมึนงง เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และอาจทำให้อาเจียนได้ และเมื่อได้รับทางผิวหนัง จะส่งผลทำให้ผิวหนังแห้งเจ็บ คันและแตก เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวไปละลายน้ำมันที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังขาดความชุ่มชื้นจึงแห้งและแตกได้ และสำหรับผู้ที่มีอาการมากควรรีบไปพบแพทย์ 

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา เมื่อพบกับการรั่วไหลของสารเคมีดังกล่าว คนที่อยู่ใกล้ในรัศมี 1-2 กิโลเมตร ไม่ควรสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง ควรงดออกนอกพื้นที่อาคารบ้านเรือนถ้าไม่จำเป็น และปิดประตูบ้านหรือหน้าต่างให้มิดชิดเพื่อป้องกันการเข้าสู่ตัวบ้านเรือน และหากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรใส่หน้ากากสำหรับป้องกันอย่างมิดชิด ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในรัศมีมากกว่านั้น ควรงดการสูดดมโดยตรงและป้องกันโดยการสมหน้ากากเมื่อต้องออกนอกบ้านหรือตัวอาคาร  

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่าเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อไร และเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง ดังนั้นแล้วนับว่าเป็นภัยเงียบอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองหรือบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ครับ 


ติดตามผลงาน ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ผศ.ดร.สุทัศน์%20จันบัวลา