‘สันติธาร เสถียรไทย’ โพสต์ 3 ข้อคิดความต่างระหว่างเจน ชี้ ความแตกต่างระหว่างวัยมีมากกว่าที่คิด ต้องฝึกฝนความเข้าใจคนต่างรุ่น เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง

สืบเนื่องจากกรณีประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้น ภายหลังจาก ‘หนุ่ย - พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ พิธีกรด้านไอทีชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กถึงพฤติกรรมของนักศึกษาฝึกงานในบริษัท พร้อมติดแฮชแท็ก #ฝึกงานแบไต๋ ว่ามีน้องสองคนที่มาฝึกงานไม่ทักทาย ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใครในบริษัทตลอด 3 เดือน แม้จะทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดี แต่ดูเหมือนตั้งใจจะไม่สื่อสาร และไม่ใส่ใจกับคนอื่น จนประเด็นดังกล่าวถูกแชร์ต่อ และมี ดราม่า ถกเถียงในโลกออนไลน์ สุดท้าย ทำให้สุดท้าย หนุ่ย พงศ์สุข ต้องออกมาขอโทษ ที่ทำการสื่อสารเรื่องราวนี้อย่างไม่สมควรด้วยประการทั้งปวง

ล่าสุด นายสันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea Grou บุตรชาย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตนักการเมืองชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘สันติธาร เสถียรไทย – Dr Santitarn Sathirathai’ เรื่องความต่างระหว่างรุ่น (Gen-เจน) โดยได้เสนอ 3 ข้อคิดที่น่าสนใจว่า..

3 ข้อคิดเรื่องความต่างระหว่างรุ่น (Gen)

เมื่อปีก่อนผมได้มีโอกาสได้ทำงานกลุ่มศึกษาเรื่องความขัดแย้งระหว่างรุ่นในประเทศไทย โดยโปรเจ็คนี้เป็นการบ้านสำหรับโปรแกรมที่ผมเข้าไปเรียนชื่อ Rule of Law for Development (RoLD) จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมประเทศไทย (TIJ)

การศึกษาครั้งนั้นทำให้ผมได้เปิดหูเปิดตาหลายประเด็นที่ไม่เคยรู้มาก่อนและคิดว่าอาจจะพอมีประโยชน์สำหรับการเข้าใจความต่างระหว่างรุ่นที่มีการพูดคุยกันในสังคมช่วงนี้ จึงอยากหยิบข้อคิดบางส่วนที่ได้มาแชร์ตรงนี้ 3 ข้อ

1.ความขัดแย้งระหว่างรุ่นไม่ได้มีแต่ในเรื่องการเมืองเท่านั้น

ในช่วงปีก่อนพอมีคนรู้ว่าทำการศึกษาเรื่องขัดแย้งระหว่างรุ่นบางคนจะถามทันทีว่า “ทำไมถึงคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองถึงเป็นเรื่องระหว่างรุ่น มันอาจจะเป็นเรื่องความต่างอื่นๆไม่เกี่ยวกับรุ่นก็ได้” ซึ่งสะท้อนแนวคิดของคนช่วงนั้นว่าหัวข้อเรื่องระหว่างรุ่นนั้นต้องเกี่ยวกับมิติการเมืองแน่ ๆ แต่เราพบว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน เรื่องการเมืองอาจไม่เกี่ยวกับรุ่นเลยและเรื่องช่องว่างระหว่างรุ่นก็อาจไม่เกี่ยวกับการเมืองเลยเช่นกัน หรือพูดอีกอย่างก็คือต่อให้ไม่มีเรื่องการเมืองเลยความแตกต่างระหว่างรุ่นก็มีพอที่ในบางครั้งบางโอกาสอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ขัดแย้งขึ้นได้ในองค์กรต่างๆ หรือในสังคม

กลุ่มเราศึกษาจึงเจาะเรื่องความต่างระหว่างรุ่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง (ไม่งั้นกลัวยาวเรียนไม่จบ)

2. ช่องว่างระหว่างรุ่นมีจริง แต่บ่อยครั้งที่เรามีอคติกับรุ่นอื่น คิดว่ามันมีมากกว่าความเป็นจริง

เพื่อดูว่าคนแต่ละรุ่นทั้ง Babyboom gen x y z จะเลือกตัวเลือกที่ต่างกันแค่ไหนในสถานการณ์ทางสังคมต่างๆและเค้าทายใจคนรุ่นอื่นถูกไหม ทางทีมเราจึงทำเป็นเกมทายใจแบบง่ายๆขึ้นมา (มีคนเล่นแล้วประมาณ 2500 ครั้ง ถ้าสนใจยังเล่นและดูข้อมูลได้จากลิ้งค์ด้านล่างในคอมเมนท์)

สิ่งที่ค้นพบคือแม้บางข้อเราจะเห็นความแตกต่างระหว่างอย่างชัดเจนและเป็นไปตามที่คาด มีหลายกรณีที่คนต่างรุ่นกันตอบออกมาคล้ายกันมากแต่ที่สำคัญคือต่างคนต่างคิดว่าอีกฝั่งต้องตอบต่างกับตัวเองอย่างสุดขั้วแน่ ๆ

เราเคยเอาเกมนี้มาทำแบบออฟไลน์เป็นเหมือนเกมโชว์แล้วก็ได้ผลคล้ายๆกัน คือ “บางครั้งความต่างในหัวเรามันมีมากกว่าช่องว่างจริงๆ” แต่ละรุ่นอาจมีอคติไปก่อนว่าอีกรุ่นต้องคิดต่างซึ่งไม่จริงเสมอไป

3. ความแตกต่างไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก

คำถามหนึ่งที่ผมชอบถามตัวเองคือ หากเราพบคนต่างชาติที่คิดต่างปฏิบัติตัวต่างกับเรา (เช่นไม่ไหว้) เราจะโมโหไหม คำตอบคือส่วนใหญ่ก็คงไม่ แต่หากเป็นคนชาติเดียวกันเราอาจจะมีโอกาสผิดใจกันมากกว่า

ถามว่าอะไรที่ต่างกัน มันคือ Expectation หรือความคาดหวังว่าอีกคนจะต้องมีความคิดวัฒนธรรมที่มาจากพื้นฐานเดียวกันกับเรา ในกรณีคนต่างชาติเราเข้าใจว่าเขาคงเติบโตขึ้นมาในโลกที่ต่างกันมาก ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ระบอบการเมือง ฯลฯ ดังนั้น “ต่างกันไม่เห็นแปลกเลย” เราก็เคารพแนวคิดเขาได้แม้อาจจะไม่เห็นด้วย

สิ่งที่เรามีคือ Empathy หรือ “ความเข้าอกเข้าใจ” ว่าทำไมเขาจะคิดต่างกับเรา

เป็นไปได้หรือไม่ว่าในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ คนไทยที่เติบโตขึ้นมาในรุ่นที่ต่างกันนั้นอาจเจอบริบทเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ที่ต่างกันมากจนแทบจะเหมือนคนละประเทศกัน? เราได้ลองทำ Map ตรงนี้ออกมาว่าคนไทยแต่ละรุ่นเค้าโตมาในยุคที่เจอสถานการณ์อะไรบ้างทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยีและได้ข้อสรุปว่ามันต่างกันมากอย่างไม่น่าเชื่อจริงๆ

ดังนั้นหากเราลองมองคนต่างรุ่นเป็นเสมือนคนต่างชาติที่เติบโตมาในคนละบริบท มี Empathy และเคารพในความช่องว่างตรงนั้น แม้จะต่างก็อาจไม่ทำให้ขัดแย้งกัน

ที่สำคัญคือจากกระบวนการทำงานชิ้นนี้ที่ในกลุ่มเองก็มีคนจากหลายรุ่นหลากวงการนี้ทำให้ผมรู้ว่าการเข้าอกเข้าใจคนต่างรุ่นนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอัตโนมัติแต่เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการฝึกฝน

เช่นเดียวกันกับที่เรามี Digital Literacy คือทักษะด้านดิจิทัล Financial Literacy ทักษะด้านการเงิน ต่อไปพวกเราอาจควรให้ความสำคัญต่อ ทักษะ Inter-generational literacy ที่ใช้สื่อสารและทำงานกับคนต่างรุ่นก็เป็นได้

ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0hsQzbZgwDsMCvX3x8ZBapS5irFEHYzKHDhEZeBNUFBb7mbZhgBcLHyFMaGf1AAUJl&id=100063871053873
https://www.thaipost.net/x-cite-news/214016/