'Moderna' ยื่นฟ้อง 'Pfizer-BioNTech' ข้อหาละเมิดสิทธิบัตรพัฒนาวัคซีนโควิด-19

โมเดอร์นาดำเนินการยื่นฟ้องไฟเซอร์และไบโอเอ็นเท็คซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนคู่แข่งการค้า โดยกล่าวหาว่าบริษัททั้งสองละเมิดสิทธิบัตรในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งกระจายไปสู่หลายร้อยล้านคนทั่วโลก

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565 กล่าวว่า โมเดอร์นา (Moderna TX, Inc.) บริษัทยาสัญชาติอเมริกัน ดำเนินการฟ้องร้องการละเมิดสิทธิบัตรในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ต่อไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทยาสัญชาติอเมริกัน และไบโอเอ็นเท็ค (BioNTech) บริษัทยาสัญชาติเยอรมัน

โดยโมเดอร์นาออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ว่า "บริษัทฯเชื่อว่าวัคซีน Comirnaty (วัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19) ที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ ร่วมกับไบโอเอ็นเท็ค ทำการละเมิดสิทธิบัตรของโมเดอร์นา ที่ได้ยื่นจดทะเบียนระหว่างปี 2553-2559 ซึ่งครอบคลุมเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ของโมเดอร์นา โดยทั้งไฟเซอร์และไบโอเอ็นเท็ค ได้คัดลอกเทคโนโลยีชนิดนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโมเดอร์นา เพื่อสร้างวัคซีนดังกล่าว"

โมเดอร์นากล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯได้เริ่มคิดค้นเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอในปี 2553 และจดสิทธิบัตรงานเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสในปี 2558-2559

"โมเดอร์นาคาดหวังให้บริษัทต่างๆ เช่น ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเท็ค เคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ และจะพิจารณาใบอนุญาตที่สมเหตุสมผลในเชิงพาณิชย์ให้ หากพวกเขาดำเนินการขอใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากเจ้าของสิทธิบัตร แต่ทว่าไฟเซอร์และไบโอเอ็นเท็คกลับไม่ได้ทำเช่นนั้น" โมเดอร์นาระบุ

การดำเนินคดีครั้งนี้ ถือเป็นการเดิมพันทางธุรกิจครั้งสำคัญระหว่างบริษัทผู้ผลิตวัคซีนชั้นนำที่มีบทบาทอย่างมากในการต่อสู้กับโรคโควิด-19

ด้านไฟเซอร์และไบโอเอ็นเท็คกล่าวว่า พวกเขายังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดในการดำเนินคดีดังกล่าว แต่แสดงความประหลาดใจที่มีประเด็นแบบนี้เกิดขึ้น

"วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเท็คผลิตด้วยเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทไบโอเอ็นเท็คเอง ซึ่งเราจะปกป้องบริษัทของเราต่อข้อกล่าวหาในคดีความดังกล่าว” ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเท็คแถลง

เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอที่ใช้ในการผลิตวัคซีนของโมเดอร์นา,ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเท็คนั้น แตกต่างจากการผลิตวัคซีนทั่วไปซึ่งอาศัยการฉีดเชื้อโรคที่อ่อนแอหรือตายแล้วเข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันรับรู้และสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรคนั้น

ในทางกลับกัน วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ จะส่งคำสั่งไปยังเซลล์ให้สร้างชิ้นส่วนโปรตีนที่ไม่เป็นอันตรายแบบเดียวกับที่พบบนพื้นผิวของไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 และหลังจากร่างกายสร้างชิ้นส่วนโปรตีนนี้ขึ้นมาแล้ว หากต้องเผชิญกับไวรัสตัวจริงที่เข้ามาในร่างกาย เซลล์จะสามารถรับรู้และต่อสู้กับไวรัสได้ทันทีและมีประสิทธิภาพมากกว่า

คดีฟ้องร้องประเภทนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอุตสาหกรรมยา ซึ่งสิทธิบัตรมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้บทสรุปของการดำเนินคดี


ที่มา : https://www.thaipost.net/abroad-news/208834/