ม.อ. จับมือ กรุงเทพดุสิตเวชการ ร่วมมือทางวิชาการจัดสหกิจศึกษา และรับมอบเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ร่วมกับ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) โดยนายแพทย์นรินทร์ บุญจงเจริญ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 6 และ แพทย์หญิงเมธินี ไหมแพง รองประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 1 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิชาการการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education : CWIE) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุพาวดี สมบูรณ์กุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสหกิจศึกษา กล่าวรายงานความร่วมมือทางวิชาการ พร้อมด้วย ผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน บุคลากร และนักศึกษา ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมดงยาง 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565
พร้อมกันนี้ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BDMS) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.กฤตย์อังกูร เชษฐเผ่าพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ ยังได้มอบเครื่อง EST หรือ เครื่องวัดสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย มูลค่า 1.1 ล้านบาท โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รับมอบเครื่องมือทางการแพทย์ดังกล่าว เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนให้แก่ สาขาชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ อีกด้วย
การลงนามดังกล่าวเพื่อร่วมมือกันออกแบบ พัฒนา ปรับปรุงหลักสูตรที่ทั้ง 2 หน่วยงานมีความถนัดและเชี่ยวชาญ เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีสมรรถนะตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและร่วมมือกันจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ที่เน้นการปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสถานประกอบการและออกแบบวัดประเมินผลการเรียนรู้ร่วมกัน ส่งเสริมและผลิตผลงานวิชาการในรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านการวิจัย การแลกเปลี่ยนวิทยากรและการศึกษาดูงาน เป็นต้น และร่วมกันพัฒนาสมรรถนะกำลังคนของประเทศให้สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจโลก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นอกจากนี้ ยังร่วมกันสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ ทำงานจริง โดยทางบริษัทฯ จะรับนักศึกษาในสาขาและหลักสูตรอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการในฐานะพนักงานชั่วคราว ได้เรียนรู้การคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในการทำงานที่ตรงสาขาภายใต้การแนะนำของพนักงานพี่เลี้ยงที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์ตรงสาขาของนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ภาคการศึกษา หรือ 16 สัปดาห์ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณค่าทั้งเชิงวิชาการและการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในอุตสาหกรรม ตลอดจนร่วมกันจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้จากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรทั้งสองฝ่ายให้เกิดการพัฒนาทักษะและสร้างศักยภาพในการทำงานเพื่ออนาคต