กาฬสินธุ์ - สร้างปราสาทรวงข้าว ในงาน "ประเพณีบุญคูณลานสู่ขวัญ" ประจำปี 2565 เพื่อสืบสานตำนานพระแม่โพสพ ระหว่างวันที่ ณ วัดเศวตวันวนาราม อำเภอเมืองกาฬสินธุ์

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยที่ปรึกษารมว.คมนาคม นำส่วนราชการ ประชาชน สืบสานประเพณีบุญคูณลาน เพื่อบูชาพระแม่โพสพ และสู่ขวัญข้าวเพื่อความเป็นสิริมงคล ไฮไลต์อยู่ที่การสร้างปราสาทรวงข้าว ซึ่งชาวบ้านได้ใช้ภูมิปัญญานำรวงข้าวจำนวนมาก มาร้อยเรียงสร้างขึ้นอย่างวิจิตรสวยงาม รายล้อมด้วยการจัดซุ้มปราสาทรวงข้าวบริวารอีกหลายหลัง อีกหนึ่งแลนด์มาร์กส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่หาดูได้ยาก และมีที่เดียวในจังหวัดกาฬสินธุ์

ที่บริเวณวัดเศวตวันวนาราม ต.เหนือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายชานุวัฒน์ วรามิตร นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นายชาญณ์ บุตรวงค์ ปลัดอาวุโส อ.เมืองกาฬสินธุ์ ส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชน และเยาวชน ร่วมกันจัดงานประเพณีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลานสืบตำนานพระแม่โพสพ ประจำปี 2565  โดยมีนางรำกว่า 300 คน รำบวงสรวงพระแม่โพสพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำหน้าที่ปกปักรักษาผืนนาและรวงข้าวให้อุดมสมบูรณ์ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19

นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า บุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลานสืบตำนานพระแม่โพสพ เป็นอีกหนึ่งประเพณีในฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน ที่สืบสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษในช่วงเดือน 3 หลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี โดยมีการถ่ายทอดมารุ่นต่อรุ่น เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีพื้นบ้านดั้งเดิม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่สนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่ง จ.กาฬสินธุ์ มีความโดดเด่นด้านวิถีชีวิตและประเพณีที่ยิ่งใหญ่ตลอดปี  อย่างบุญคูนลานของชาว ต.เหนือ ที่ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยเฉพาะรูปแบบปราสาทรวงข้าวมีการพัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งมีรูปแบบเป็นปราสาทรวงข้าวตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีความสวยงามโดดเด่นและยังคงรูปแบบวัฒนธรรมอีสานไว้ จนกระทั่งถูกยกระดับให้เป็นประเพณีและแหล่งท่องเที่ยวของ จ.กาฬสินธุ์ และปฏิทินการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ด้านนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ มีวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญตามฮีต 12 คอง 14 และแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งราชการ ภาคประชาชน ได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสาน ให้อนุชนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่า และร่วมกันรักษาประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไป เช่นเดียวกับการจัดงานประเพณีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลาน สืบตำนานพระแม่โพสพในครั้งนี้  เป็นการแสดงถึงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตดั้งเดิม ผ่านรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ ในงาน เช่น การร่วมบริจาคข้าวเปลือก เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ยากไร้ บำรุงพระพุทธศาสนา พัฒนาชุมชน แสดงออกถึงพลังสามัคคี และความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำหน้าที่ปกปักรักษานาข้าว น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และหล่อเลี้ยงต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ออกผลผลิตข้าวให้บริบูรณ์ ได้รับประทานเพื่อยังชีพและจำหน่ายสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาว ต.เหนือ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ได้จัดงานประเพณีบุญคูนลานเป็นประจำทุกปี โดยมีการพัฒนารูปแบบจากที่ชาวบ้านนำข้าวมากองรวมกัน เดิมไม่มีรูปแบบสวยงาม ต่อมาจึงใช้ภูมิปัญญาและด้วยความคิดสร้างสรรค์ ในการนำรวงข้าวมาประดับตกแต่งเป็นปราสาทรวงข้าวด้วยศิลปะอีสาน ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่าสามเดือน จนกลายเป็นปราสาทรวงข้าวที่วิจิตรสวยงาม การจัดงานบุญคูณลานดังกล่าว จึงเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนได้เห็นความสำคัญของศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ จากการนำผลิตภัณฑ์ในชุมชนจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ 2565 ประชาชน นักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถมาท่องเที่ยว และชมความงดงามอลังการของปราสาทรวงข้าวได้