นโยบายไม่ขายฝัน!! ‘ประกันรายได้’ ชุบชีวิตเกษตรกร 7.8 ล้านราย นโยบาย ปชป.ยุคใหม่ เน้นทำได้จริง

อย่างที่รับทราบกันดีว่า ประเทศไทย คือ ประเทศเกษตรกรรม เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก ขณะที่อาชีพเกษตรกร คือ อาชีพหลักของคนไทยมาช้านาน เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยสร้างผลผลิตให้กับคนไทยและอีกหลายล้านคนบนโลกได้มีอาหารดีๆ 

แต่ทว่า อาชีพเกษตรกร กลับเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงด้านรายได้เพื่อยังชีพและเลี้ยงครอบครัว นั่นเพราะการทำเกษตรมักจะไม่สามารถรับรู้ได้ว่า ผลผลิตที่ออกมานั้น จะมีราคาที่คุ้มกับที่ลงทุนไปหรือไม่ เนื่องจากมีตัวแปรจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง 

ที่ผ่านมา พรรคการเมืองส่วนใหญ่ มักจะกำหนดนโยบายด้านราคาสินค้าเกษตรเป็นตัวชูโรง เพราะทราบดีว่า เกษตรกรเป็นฐานเสียงสำคัญ บางนโยบายสามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่นโยบายอีกจำนวนมากเป็นเพียงการขายฝัน สุดท้ายก็ทำไม่ได้ตามที่รับปากชาวบ้าน

แต่หนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ที่อาจกล่าวได้ว่า โดนใจเกษตรกรไทยเต็มๆ คงหนีไม่พ้น ‘นโยบายประกันรายได้เกษตรกร’ นั่นเอง

สำหรับนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายหลักของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เมื่อครั้งรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และภายหลังได้เข้าร่วมรัฐบาล ทางจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้ผลักดันนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อนำไปเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยเริ่มจากการประกันรายได้ของพืช 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด 

ตลอด 2 ปีของโครงการนี้ เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ที่ปรากฏชัดแล้วว่าประสบความสำเร็จ เพราะเกษตรกรได้รับประโยชน์ ช่วยให้ชีวิตของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้น โดยมีเกษตรกรได้ประโยชน์รวม 7.85 ล้านครัวเรือน แยกเป็นข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน ยางพารา 1.83 ล้านครัวเรือน มันสำปะหลัง 0.52 ล้านครัวเรือน ปาล์มน้ำมัน 0.37 ล้านครัวเรือน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 0.45 ล้านครัวเรือน

โดยในรอบปี พ.ศ. 2562 - 2564 คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบงบประมาณอุดหนุน "ประกันรายได้" จ่ายส่วนต่างราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิด ไปแล้วกว่า 276,193 ล้านบาท แบ่งเป็น ข้าว 190,311 ล้านบาท ยางพารา 37,821 ล้านบาท ปาล์ม 22,186 ล้านบาท มันสำปะหลัง 20,372 ล้านบาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5,503 ล้านบาท 

นายจุรินทร์ ย้ำว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกรยังเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะต้องเดินหน้าต่อไป และบัดนี้กลายเป็นนโยบายรัฐบาลแล้ว ไม่ใช่เฉพาะนโยบายประชาธิปัตย์ที่เป็นจุดเริ่มต้น เพราะเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล ได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี ซึ่งปีที่ 3 จะเดินหน้าต่อไป ขณะนี้พืชเกษตรที่ประกันรายได้ 5 ตัว คือ ข้าว มัน ยาง ปาล์ม และข้าวโพด โดยหลายตัวไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่าง เพราะราคาดีสูงกว่ารายได้ที่ประกัน

เพราะฉะนั้น โครงการประกันรายได้เกษตรกรจะยังคงเป็นโครงการที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ผลักดันต่อ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว 3 สินค้า คือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงินดำเนินการ 27,000 ล้านบาท ส่วนยางพาราและปาล์มน้ำมัน กำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของครม.

แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากสินค้าเกษตรราคาตกต่ำจนเกินไป โครงการประกันรายได้เกษตรกร จะเป็นหลักประกันรายได้พื้นฐานที่สำคัญ ที่จะเข้ามาดูแลเกษตรกรทุกกลุ่ม ให้มีพลังก้าวต่อด้วยศักยภาพของตนเอง อย่างที่ปรากฏออกมาแล้วว่ามีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ไปแล้วกว่า 8 ล้านครัวเรือน เป็นการสร้างโอกาสให้ชาวบ้านได้มีกำลังแรงใจฮึดสู้ต่อไป