‘กรณ์’ ค้านเก็บภาษีเทรดคริปโตฯ จนกว่า ‘สรรพากร’ จะทำความเข้าใจตอบได้ชัดเจน
กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ประกาศถึงวิธีการคำนวณภาษีคริปโตฯ โดยคิดกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายรายธุรกรรม (transactions) โดยไม่สามารถนำรายการที่ขาดทุนมาหักลบได้
โดยคำนวณจากเงินได้ (กำไร) แล้วหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่จบเพียงแค่นั้น แต่ยังต้องนำเงินได้ (กำไร) มารวมกับเงินได้อื่นๆ พร้อมยื่นภาษีประจำปี ซึ่งแน่นอนว่ามีเสียงสะท้อนออกมาในด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ประกอบการ exchange หรือบรรดานักเทรดคริปโตฯ
เขากล่าวว่า ก่อนที่จะวิเคราะห์ประเด็นเรื่องภาษีกำไร อีกเรื่องที่นักลงทุนคริปโตควรจะต้องมีคำถามกับทางสรรพากร แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือประเด็นเกี่ยวกับการเก็บภาษี VAT เพราะสรรพากรเก็บ VAT เสมือนคริปโตเป็นสินค้า
เพราะฉะนั้น 'จะเกิดการจ่าย VAT สองเด้ง' หากเรารับชำระการขายสินค้าเป็นคริปโต เพราะนอกจากเสีย VAT ตอนขายสินค้าแล้ว เรายังต้องเสีย VAT จากการขายคริปโตเป็นบาทอีกด้วย
ทั้งนี้ แม้แต่ผู้ลงทุน หากขายคริปโตเกิน 1.8 ล้านบาท ก็ต้องจด VAT และเสีย VAT โดยไม่สามารถเขียนใบเสร็จได้ เพราะเราขายคริปโตใน exchange เราไม่รู้ผู้ซื้อ นี่คือสาเหตุที่หลายประเทศได้แก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกคริปโตออกจากระบบ VAT
อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ดังนั้นทางกรมสรรพากรควรจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำเสนอและศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศต่อไป โดยอาจจะดูตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการออกข้อกำหนดลักษณะนี้มาแล้วก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง capital gains tax, VAT/GST สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลเช่น
1.) VAT/GST - สิงคโปร์ ออสเตรเลีย หรือบางประเทศใน EU กำหนดให้การขาย crypto currency, การใช้ crypto currency ในการซื้อสินค้าและบริการ, การจ่ายเงินเป็น crypto currency จะไม่ต้องเสีย VAT ในต่างประเทศมีการยอมรับให้ใช้ crypto currency โดยไม่เสีย VAT แต่ประเทศไทยเรื่องนี้ยังต้องมีการพูดคุยเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น มิเช่นนั้นอาจจะสร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อขายสินค้าโดยใช้ crypto currency ก็เป็นได้
2.) Capital Gains Tax (CGT) - หลายประเทศในเอเชีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไม่มีการคิด CGT แต่อีกหลายประเทศ เช่น Australia, US, UK, Canada มีการคิด CGT แต่สามารถนำค่าใช้จ่าย รวมถึงกำไร-ขาดทุนมาคำนวณเงินได้สุทธิก่อนยื่นภาษีได้ บางประเทศอนุญาตให้นำขาดทุนจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมาหักจากเงินได้ที่มาจากการลงทุนในตัวสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ไม่สามารถนำมาหักจากรายได้ประเภทอื่น ส่วนประเทศไทยเองก็สามารถคำนวณ CGT โดยใช้หลักเกณฑ์ลักษณะนี้ได้เหมือนกันเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
3.) Tax-exempt - เกาหลีใต้ จะเก็บภาษีคริปโตในอัตรา 20% แต่จะยกเว้นภาษีจากกำไรส่วนแรกที่ไม่เกิน 2.5 ล้านวอน (แต่กฎเกณฑ์นี้ถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อยถึงปี 2023) ส่วนในประเทศไทย “ถ้า” หากกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้จริง อาจจะมีการพิจารณายกเว้นภาษีในส่วนแรก เช่น กำหนดให้กำไร 1 แสนบาทแรกไม่ต้องเสียภาษีก็สามารถทำได้
"ผมไม่เห็นด้วยที่กรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีส่วนนี้ จนกว่าจะมีคำตอบและความชัดเจนในทุกประเด็นที่กล่าวมา รวมไปถึงความชัดเจนในวิธีการว่าจะสามารถบริหารจัดการให้การเก็บมีความยุติธรรมต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ มีระบบและเครื่องมือที่สามารถตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนในทางปฏิบัติ? ในต่างประเทศที่มีการจัดเก็บ CGT ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำข้อตกลงกับทาง exchanges หรือ platforms ต่างๆ เพื่อให้ส่งข้อมูลการซื้อขายกลับมายังรัฐบาล แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ยังไม่เห็นมีมาตรการเหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจน" อดีต รมว.คลัง กล่าวและย้ำว่า ภาษีจากโลกดิจิทัลรายละเอียดเยอะ ความซับซ้อนที่ต้องทำความเข้าใจมีมาก เรื่องแบบนี้ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องที่รู้จริงมาถกหาทางออกร่วมกัน