ย้อนอดีตวันคนโสด 11.11.2018 จากอาลีบาบา ยอดขาย 2 ชั่วโมง แซง ‘เซเว่นฯ’ ไทยขายทั้งปี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พอพูดถึงวันที่ 11 เดือน 11 หรือที่เรียกกันว่า 11.11 นั้น ทุกคนต่างพุ่งเป้าไปที่การซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ยักษ์ใหญ่อย่าง Shopee และ Lazada เพราะทั้ง 2 แบรนด์ต่างงัดกลยุทธ์ด้านการตลาดที่หลากหลาย มาดึงจูงใจลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้า ผ่านแพลตฟอร์มตัวเอง อาทิ การลดกระหน่ำ, ตัดราคา 50% หรือจะเป็นแจกโค้ดส่วนลด ส่งสินค้าฟรี และโปรโมชันอื่น ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ

แต่ทราบหรือไม่ว่าการทำการตลาดในวัน 11.11 นั้นมีที่มาจากอะไร

จุดเริ่มต้น 11.11 นั้นเริ่มขึ้นจากความนึกสนุกของนักศึกษาชายจากมหาวิทยาลัยนานกิง ประเทศจีน ในยุค 90 ที่เขาเกิดไอเดียนำเลข 1 ที่สื่อความหมายถึงความโดดเดี่ยว คนเดียว มาเรียงต่อกัน 4 ตัว เป็น 11.11 จนกลายเป็นเทศกาล ‘กวงกุ่ยเจี๋ย’ (光棍节) หรือ ‘เทศกาลคนโสด’ ซึ่งงานนี้ก็ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะกลายเป็นวันที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย ไปทั่วประเทศ

11.11 เริ่มแพร่หลาย และกลายเป็นอีกการตลาดที่ร้อนแรงภายใต้วิถีชีวิตของผู้คนชาวจีนที่เป็นโสดมากขึ้น และมีบุตรน้อยลง การตลาดจาก ‘วันคนโสด’ หรือ ‘Single’s Day’ จึงสอดคล้องกับพฤติกรรมของเหล่าคนโสดที่ไม่ต้องง้อและพร้อมสู่ขอของขวัญชิ้นพิเศษให้กับตัวเองได้ในวันนี้

เพียงแต่การจะเดินทางไปช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าเพียงคนเดียว ก็อาจจะดูเป็นการทำร้ายความรู้สึกตัวเองเกินไป!!

ในปี 2009 นายหม่า-ยวิ๋น หรือ แจ็ค หม่า (Jack Ma) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ประธานและซีอีโอของแพลตฟอร์ม ช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง อาลีบาบา (Alibaba) ที่เรารู้จักกันดี จึงเห็นช่องทางจากการตลาดคนโสดนี้ และปล่อยสุดยอดโปรโมชันขายสินค้าในวันที่ 11.11 ตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้าสู่วันคนโสดของจีนจนกระทั่งหมดวัน และมีโปรโมชั่นนาทีทองแทบจะทุกชั่วโมง และสามารถสร้างยอดขายสูงสุดในวันเดียวได้ถึง 52 ล้านหยวน มากกว่าที่เคยทำในช่วงเวลาปกติ 10 เท่า

จากวันนั้น 11.11 ได้กลายเป็นบ่อทองให้กับอาลีบาบาในการโกยรายได้ทางออนไลน์จากนักช็อปทั้งในจีนและต่างชาติ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างวัฒนธรรมการช็อปปิ้งออนไลน์ในวันคนโสดนี้ให้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทยในทุก ๆ ปี 

โดยเฉพาะในวันคนโสด 11.11 เมื่อปี 2018 ที่อาลีบาบาได้สร้างตำนานตัวเลขที่น่าตกใจ โดยสามารถโกยยอดขายในเวลา 2 ชั่วโมง ที่ว่ากันว่ามีตัวเลขยอดขายเท่ากับ 7-Eleven ไทย ขายทั้งปีกันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อปี 2018 อาลีบาบารายงานสถิติว่า 11 เดือน 11 ของปีนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของยอดขายที่มากสุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท โดยสามารถทำยอดขายได้มากถึง 100,000 ล้านหยวนในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง 47 นาที หรือให้คำนวณเป็นเงินไทยในช่วงนั้นแล้ว ก็เท่ากับยอดขาย 480,000 ล้านบาท

แน่นอนว่าตัวเลขนี้ น่าสนใจเพราะไปเท่ากับยอดขายทั้งปี 2560 ของ CPALL เจ้าของร้าน 7-Eleven และ แม็คโคร ที่มีสาขารวมกันเป็นหมื่นสาขา แถมเป็นหนึ่งในบริษัทค้าปลีกที่มียอดขายมากสุดในประเทศไทยนั่นเอง

แล้วยอดขายค้าปลีกใหญ่สุดของไทยเป็นอย่างไร...เมื่อเทียบกับอาลีบาบาในวันนั้น?

ยอดขายทั้งหมดของอาลีบาบาที่เกิดขึ้นในจีนช่วงปี 2018 มีมูลค่าราว 125 ล้านล้านบาท มากกว่า CPALL ที่มียอดขาย 4.8 แสนล้านบาท ถึง 260 เท่า

เรื่องนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า โมเดลในการขายสินค้าออนไลน์ที่อาจจะเคยมีคนดูแคลนว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ ในอดีต มันง่ายนิดเดียว แค่เทคโนโลยีเปลี่ยน คนปรับรับ และผู้ประกอบการพร้อมเปิดใจพลิกจากการขายหน้าร้านแบบดั้งเดิมที่ร้านค้าต้องรับผิดชอบการขายเองทั้งหมด มาปล่อยให้แพลตฟอร์มช่วยรันโอกาสด้านยอดขายให้อีกทาง และก็เป็นทางที่คนทั้งโลกกำลังวิ่งเข้าหาเสียด้วย

ขณะเดียวกันแคมเปญวันคนโสดของอาลีบาบาเพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วนั้น เริ่มด้วยยอดขายเพียง 2 ร้อยล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ตัวเลขยอดขายรวมทุกช่องทางในวันที่เทศกาล 11.11 ของ อาลีบาบา เมื่อปีที่แล้ว (2020) จะมีตัวเลขอยู่ที่ 4.982 แสนล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทย 2.27 ล้านล้านบาท โดยสูงกว่ายอดขายรวมของปี 2019 ถึง 1 เท่าตัว (1.16 ล้านบาท >> ปัจจัยที่ทำให้ยอดขายพุ่งทะยาน เป็นเพราะอาลีบาบา จัดงานติดต่อกัน 11 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 จนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่ได้จัดเพียงวันเดียวเหมือนปีก่อน ๆ)

ส่วนในปีนี้ อาลีบาบา จะสามารถปิดยอดขายได้เท่าไร ก็คงต้องตามอัปเดตกันในอีกไม่กี่อึดใจ

นี่คือพลังแห่งคนไร้คู่...ที่ควบคู่มากับพลังแห่งโลกออนไลน์!!


ที่มา: https://www.longtunman.com/11236

https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/160168