‘เพลงรักชาติ’ น้ำมนต์ หรือ อาหารใจ ?

เพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” เป็นกระแสดนตรี ที่มีการรับรู้เป็นกระแสการเมือง จากเนื้อหาที่ปลุกสำนึกรักชาติ โดยนำเพลงซึ่งคนรุ่นกลางและรุ่นใหญ่ รู้จักกันในฐานะ “เพลงสุนทราภรณ์” ที่เผยแพร่ครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 ผู้ที่มีส่วนตั้งแต่ครั้งที่เพลงนี้ชนะการประกวด “การแต่งเพลงปลุกใจ” ครั้งนั้น ได้แก่ มัณฑนา โมรากุล, ชวลีย์ ช่วงวิทย์, สุปาณี พุกสมบุญ และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี แต่ยังไม่ได้มีการบันทึกเสียงไว้ ต่อมาเมื่อได้มีการบันทึกเสียง มีนักร้องซึ่งเป็นดาวเด่นของวงสุนทราภรณ์ เป็นผู้ขับร้องได้แก่ ศรีสุดา รัชชตวรรณ, มาริษา อมาตยกุล, บุษยา รังสี และวรนุช อารีย์

แม้ว่าจะเป็นเพลงปลุกใจผู้คนในอดีตส่วนใหญ่ ไม่ได้โยงเพลงเข้ากับการเมืองอย่างจริงจัง เพราะโดยสภาพทั่วไป แม้ว่าจะมีอิทธิพลของลัทธิการเมืองแทรกแซงอยู่ในสังคม แต่ภาพโดยรวมคือ คนไทยย่อมรักชาติ เกิดเมืองไทย โตเมืองไทย ไม่รักชาติแล้วจะไปอยู่ที่ไหน เพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ในอดีตที่ผ่านมา จึงเป็นเพลงที่ให้ความรู้สึกที่ดี เป็นเพลงที่มีทำนองไพเราะ ชวนให้ร้องตาม

แต่เมื่อเพลงถูกนำกลับมาเสนอใหม่ โดยสร้างสรรค์ในสไตล์ดนตรีแตกต่างกัน รวม 4 เวอร์ชัน เพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ไม่ได้เป็นแค่เพลง ไว้ฟังให้ Feel Good เท่านั้น แต่ทำหน้าที่เหมือนเป็น “น้ำมนต์” หรือเป็น “กระบอง” ไว้ฟาดฝ่ายตรงข้าม

ฝ่ายตรงข้าม คือ กระแสการด้อยค่าประเทศไทย อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน มีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้คนทุกรุ่น ย้ายภูมิลำเนาไปแสวงหาอนาคตในประเทศอื่น และเสนอข้อมูลที่เกลี้ยกล่อม ถึงสังคมที่ขาดความเท่าเทียม ขาดความยุติธรรมในกลไกต่าง ๆ เช่น ด้านกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และสวัสดิการที่รัฐพึงจัดให้แก่ประชาชน แต่เนื่องจากข้อมูลที่นำเสนอนั้น ไม่ตรงกับสภาพที่ผู้คนในสังคมไทยได้สัมผัสเสมอไป วาทกรรมที่ปรากฏทั้งในลักษณะคำพูด และตัวอักษร จึงถูกมองเห็นว่าเป็นลักษณะ “ชังชาติ” และการรับมือกับพฤติกรรม “ชังชาติ” คือ การแสดงความรักชาติ รักแผ่นดินไทย

การโต้ตอบระหว่างฝ่ายด้อยค่าประเทศไทย และฝ่ายรักประเทศ มีมากมายทั้งทางโซเชียลมีเดีย และสื่ออื่น ๆ เช่น รายการทีวี อินโฟกราฟิก และคลิปยูทูบ และเครื่องมือที่เชื่อว่าจะใช้ตอบโต้ได้ดี คือ ดนตรี ดังนั้นจึงเกิดโปรเจกต์ “บ้านเกิดเมืองนอน 2564” ที่ดึงคนดนตรีมาร่วมงานกันมากมายถึง 22 คน โดยนำเสนอในสไตล์ Rock, Pop, Jazz และ Piano 

สไตล์ดนตรีหลากแนว สนองต่อรสนิยมดนตรีของคนฟัง ค่อย ๆ ทยอยปล่อยแต่ละเวอร์ชันออกมาตาม ๆ กันเกิดเป็นกระแส เกิดเป็นข่าว เกิดเป็นพลังในการโต้ตอบกับการด้อยค่าประเทศชาติ แต่คำถามคือ เป็นกลยุทธ์ตอบโต้ ที่มีความยั่งยืน หรือเป็นเพียงการแลกหมัดเฉพาะเหตุการณ์ ?

ดนตรี เป็นเครื่องมือสื่อสารการเมืองมายาวนาน มีการแต่งเพลงเพื่อปรับทัศนะ และสร้างความเหนียวแน่นให้กลุ่มคน สร้างความภูมิใจให้คนในชาติ สร้างความมั่นใจให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ใช้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ เพลงปลุกใจให้รักชาติเพลงแรกคือ “เพลงชาติ”

ในประเทศไทย เพลงชาติ เป็นเพลงชักธงขึ้นเสาในตอนเช้าก่อนเข้าเรียน เด็กนักเรียนได้ฟัง “เพลงชาติ” มาตั้งแต่เล็กจนโต เมื่อเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ไม่มีการเข้าแถวเคารพธงชาติ แต่คนทั่วไปก็ยังได้ยินเพลงชาติที่เปิดตามชุมชน และท้องถนน เมื่อมีการเปิดเพลงชาติในเวลา 08.00 น. และ 18.00 น. และมีแนวปฏิบัติว่า ให้ยืนนิ่งเมื่อได้ยินเพลงชาติ เพลงชาติยังได้รับการเปิดในโอกาสต่าง ๆ เช่น เมื่อได้รับชัยชนะในการแข่งขันกีฬา การแข่งขัน Super Bowl ในสหรัฐอเมริกา ก็มีการร้องเพลงชาติ (Star-spangled Banner) มาตั้งแต่เริ่มมีการแข่งขันตั้งแต่ปี 1967

เพลงชาติที่มีเนื้อหาให้ภูมิใจในชาติ ทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าเกิดความเป็นเอกภาพ ย้ำถึงความกล้าหาญ และประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ เพื่อให้มีแผ่นดินอยู่ ต้องการปลูกฝังสำนึกที่จะเป็นแรงบันดาลใจ ให้ช่วยกันปกป้องรักษาและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

แต่เพลงชาติ หรือเพลงปลุกใจใด ๆ ไม่มีการรับประกันว่าจะมีประสิทธิภาพตลอดไป ดังนั้น เมื่อบุคคลใดเติบโตขึ้นมา และสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป การรับรู้ย่อมเปลี่ยนไป ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลยังเป็นตัวแปรสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่า คนที่เรียกตนเองว่าคนรุ่นใหม่ ไม่ได้แคร์เนื้อเพลงชาติอีกต่อไป เพลงปลุกใจ เพลงรักชาติใด ๆ ก็ไม่ใส่ใจฟัง ชุดวาทกรรมที่ด้อยค่าบ้านเกิด เข้ามาแทนที่คำร้องเพลงปลุกใจให้รักชาติได้อย่างง่ายดาย

ชุดความคิด ที่เชื่อว่า เพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” จะทำให้คนไทยรักชาตินั้น เป็นเพียงความเชื่อ ไม่มีข้อพิสูจน์ คนที่ไม่ภูมิใจในประเทศชาติอีกแล้ว ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด จะกลับใจเปลี่ยนใจมารักชาติได้เพราะได้ยินเพลงปลุกใจ ได้หรือ ? หรือการที่คิดว่า จะใช้เพลงเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังสำนึกให้กับเยาวชน ที่จะโตขึ้นมาแล้วมีความรักชาติอยู่ในตัว ก็ต้องดูปรากฏการณ์ปัจจุบัน ที่ยืนยันว่า คนรุ่นใหม่ที่ฟังเพลงชาติเช้า-เย็นในโรงเรียน ทำไมกลายเป็นกลุ่มคนที่แค้นเคือง ชิงชังบ้านเกิดเมืองนอนของตน และถ้าตั้งใจว่าจะทำเพลงให้เด็กฟัง คงไม่ใช้นักร้องรุ่นลุงป้า เป็นหลักในการถ่ายทอด คงจะเลือกนักร้องที่จะดึงดูดคนอายุน้อยและเยาวชนได้

อย่างไรก็ตาม โปรเจกต์บ้านเกิดเมืองนอน ก็เป็นปรากฏการณ์สำคัญ และเป็นมิติใหม่ในการปะทะกับฝ่ายตรงข้ามด้วยสันติวิธี


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32