“ประเทศไทย” ถือว่าเป็นประเทศในใจของชาวต่างชาติหลาย ๆ คนที่อยากย้ายมาอาศัยอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต นอกจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แล้ว สภาพภูมิอากาศก็ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่หลาย ๆ คนชื่นชอบมากที่สุด

ตอนนี้เชื่อแน่ว่าหลาย ๆ ท่าน คงได้ยินข่าวดังตามสื่อช่องทางต่าง ๆ ที่กำลังเป็นกระแสฮิต นอกจากข่าวการติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในแต่ละวันแล้ว นั่นก็คือข่าวการตั้งกลุ่มชักชวนกันย้ายตัวเองไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ  ซึ่งคิดว่าก็คงเป็นเรื่องที่น่าจะมีการพูดถึงไปอีกซักระยะหนึ่งในสภาวะปัจจุบันที่โควิด-19 กำลังระบาดในประเทศไทยขณะนี้ 

สำหรับในวันนี้ผู้เขียนจะไม่ก้าวล่วง หรือพูดถึงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แต่จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะข้อดีสำหรับที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบันกับภูมิอากาศที่เหมาะสมในการตั้งรกรากที่อยู่อาศัย ในรูปแบบเชิงภูมิศาสตร์และวิทยาศาสตร์กันครับ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าถ้าให้ประชากรทั่วโลก โหวตเลือกว่าอยากไปอยู่ประเทศไหนกันมากที่สุดในบั้นปลายของชีวิต ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าประเทศไทยต้องติดอันดับต้น ๆ อย่างแน่นอน 

ในการเป็นประเทศปลายทางที่มีผู้คนอยากมาอยู่อาศัย จะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศเราในสถานการณ์ปกติ หรือแม้แต่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปที่มักจะมาแต่งงานกับภรรยาชาวไทย เพื่อให้ได้อยู่อาศัยในประเทศไทยในช่วงบั้นปลายของชีวิต โดยเฉพาะแถวภาคอีสานที่มีเป็นจำนวนมาก จนบางหมู่บ้านถูกขนานนามว่า เป็นหมู่บ้านเขยฝรั่งเลยทีเดียว 

สำหรับที่ตั้งของประเทศไทยนั้น ตั้งอยู่อยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 5 องศา 37 ลิปดาเหนือ กับ 20 องศา 27 ลิปดาเหนือ และระหว่างลองจิจูดหรือที่ 97 องศา 22 ลิปดาตะวันออก กับ 105 องศา 37 ลิปดาตะวันออก เมื่อดูลักษณะภูมิประเทศแล้ว ด้านทิศตะวันออกจะมีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับประเทศลาว และทิศเหนือติดกับประเทศลาวและประเทศพม่า ส่วนทิศใต้จะติดประเทศมาเลเซีย และถูกล้อมรอบด้วยมหาสมุทรขนาบด้านข้างซ้ายและขวา นอกจากนั้นเมื่อดูที่ตั้งของประเทศไทย แล้วด้านตะวันออกถัดไปจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะเป็นมหาสมุทรที่เรียกว่าทะเลจีนใต้ ส่วนทิศใต้ก็จะถูกล้อมรอบด้วยทะเลอ่าวไทยในด้านตะวันออก และทะเลอันดามันในด้านตะวันตก ส่วนทิศเหนือเมื่อไล่ขึ้นไปข้างบนต่อจากประเทศลาว เวียดนาม ก็จะเป็นประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ จากลักษณะพิกัดที่ตั้งของประเทศไทยดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีภูมิประเทศที่ประกอบไปด้วยทั้งภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบต่ำ แม่น้ำ ตลอดทั้งมหาสมุทร ซึ่งส่งผลให้มีสภาพอากาศที่แตกต่างกัน เรียกว่าอยู่ในประเทศเดียวมีครบทุกอย่างไม่ต้องไปหาที่ไหนเลยทีเดียว “นี้คือข้อดีข้อแรกของประเทศไทยครับ”

ทีนี้เราลองมาดูลักษณะภูมิอากาศของประเทศไทยกันบ้างครับ จากพิกัดที่ตั้งของประเทศไทยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ประเทศไทยมีฤดูกาล 3 ฤดู คือ ฤดูฝนในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดเอาความชื้นและฝนเข้ามา ฤดูหนาวในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเอาความหนาวเย็นลงมา และฤดูร้อนในช่วงประมาณ เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยในช่วงนี้อาจมีลมพัดเข้ามาหลายทิศทาง ทำให้อากาศมีความแปรปรวน ส่งผลให้บางครั้งฤดูกาลในประเทศไทยอาจไม่แน่นนอน โดยอาจมีฝนตกในช่วงฤดูร้อน หรืออากาศหนาวในช่วงเดือนมีนาคมก็เป็นไปได้ 

ทีนี้จะมาพูดถึงลักษณะของการเกิดฤดูกาลในประเทศไทยกันบ้างนะครับ ทั้งนี้โดยทั่วไปประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่าใกล้กับเส้นศูนย์สูตร และถูกขนาบด้วยมหาสมุทร ทำให้เราถูกเรียกว่าเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น คือประเทศที่มีความร้อนสูงเนื่องจากการทำมุมองศากับดวงอาทิตย์ของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ เราอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า ในขณะเดียวกันประเทศเราก็มีความชื้นเนื่องจากไอน้ำที่ถูกพัดพามาจากมหาสมุทรที่ขนาบข้างอยู่นั่นเองครับ เพราะฉะนั้นแล้วในสภาวะกาลปกติแล้วประเทศไทยจึงมีความร้อนค่อนข้างจะสูง โดยช่วงที่ร้อนจะกินเวลาค่อนข้างจะยาว คือช่วงฤดูร้อนเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และเลยไปถึงช่วงหน้าฝนด้วยคือประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างหน้าร้อนก็ไม่ใช่ว่าประเทศไทยจะร้อนตลอดเวลา เพราะในระหว่างร้อน ๆ ก็จะมีลมหนาวที่พัดมาจากประเทศจีนแผ่ลงมาเป็นระยะ ๆ เสมอ พอมาเจอกับลักษณะอากาศร้อนชื้นทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อการปลูกพืชของเกษตรกรในหน้าแล้ง 

โดยทั่วไปแล้วการเกิดพายุฤดูร้อนจะเกิดช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็เป็นช่วงหน้าแล้งพอดี ส่งผลให้ประเทศไทยเราสามารถปลูกพืชในหน้าแล้งที่ไม่ต้องการน้ำมากได้ ได้แก่ อ้อย มันสำประหลัง ซึ่งนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ “เห็นไหมละครับข้อดีอีกข้อของประเทศไทย ในขณะที่เป็นฤดูแล้งก็ยังมีฝนตกลงมาให้พอปลูกพืชได้” 

มาดูกันต่อนะครับ พอในช่วงฤดูฝนหรือที่เราเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าฤดูมรสุม ประเทศไทยก็จะมีฝนตกชุก และเมื่อเกิดพายุในหน้ามรสุม ซึ่งจะเป็นพายุที่มีความรุนแรงสูง และกินพื้นที่เป็นระยะกว้าง โดยทั่วไปพายุที่พบส่วนใหญ่จะก่อตัวในมหาสมุทรแถวทะเลจีนใต้ ลักษณะทั่วไปของพายุนั้นเพื่ออยู่ในมหาสมุทรจะมีความรุนแรงหรือความเร็วลมสูง แต่เมื่อเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งความรุนแรงของพายุก็จะลดลง จากพิกัดที่อยู่ของประเทศไทย เมื่อพายุเคลื่อนเข้าหาฝั่ง ก่อนที่พายุจะเคลื่อนมาถึงประเทศไทย ก็จะผ่านประเทศเพื่อนบ้านเราก่อน คือเวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งจะเป็นประเทศที่เปรียบเสมือนเมืองหน้าด่านที่รับอิทธิพลของพายุก่อนที่จะมาถึงไทย ส่งผลให้พายุมีความเร็วลมลดลงเมื่อมาถึงไทย ทำให้ผลกระทบที่เกิดจากพายุของประเทศไทยมีน้อย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้นมีบางปีที่พายุก่อตัวแล้วเคลื่อนที่ลงใต้ไปยังอ่าวไทย และเคลื่อนที่ผ่านภาคใต้ของประเทศไทย ก็จะมีผลกระทบกับประเทศไทยสูง เนื่องจากไม่มีประเทศเพื่อนบ้านคอยรับลมพายุ แต่จะมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการเคลื่อนที่ผ่านมาด้านบนของประเทศไทย 

“เห็นไหมละครับข้อดีของประเทศไทยอีกข้อ เหมือนเรามีเมืองหน้าด่านที่คอยรับศึกจากพายุแทนเรา พอข้าศึกเคลื่อนที่มาถึงประเทศไทยเราก็อ่อนล้าหมดแรงลดความรุนแรงลง เหลือแค่การพาเอาฝนมาตกในประเทศไทยเท่านั้น” 


เขียนโดย : ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา อาจารย์ประจำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต