เหล่าผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) หลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่ให้ความสำคัญในหลักการจัดเก็บและสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งในความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพให้กับธุรกิจของคุณโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว !

ความเข้าใจในหลักการจัดเก็บและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ควรให้ความสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่กิจการจะสามารถจัดการเพื่อชำระภาษีภายในกำหนดเวลาอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามกฏหมายแล้วเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปสู่ภาระภาษีที่มีจำนวนน้อยที่สุด โดยไม่ใช่การหลีกเลี่ยง ซึ่งจะช่วยขจัดปัญหาภาษีอากร และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ธุรกิจมีความยั่งยืนได้

รูปแบบของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จำแนกได้ทั้งในรูปของนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด) และ บุคคลธรรมดา (เจ้าของคนเดียว คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ) ดังนั้นภาระภาษีที่เกี่ยวข้องจึงเป็นไปตามรูปแบบของ SMEs ที่ผู้ประกอบการเลือก 

อย่างไรก็ตามในปีภาษี 2563 หากเปรียบเทียบระหว่างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า SMEs ที่เป็นนิติบุคคล มีอัตราภาษีสูงสุดที่ต้องจ่าย ต่ำกว่า SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา ถึง 15% (นิติบุคคล 20% บุคคลธรรมดา 35% ) 

โดยในช่วงกำไรสุทธิ 300,000 บาท แรกของ SMEs นิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนในกรณีที่มีผลขาดทุนไม่ต้องเสียภาษี และสามารถนำผลขาดทุนสุทธิ 5 ปีย้อนหลังมาเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ 

นอกจากนี้กรมสรรพากรยังมีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจ SMEs นิติบุคคล โดยให้สิทธิประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้ 

1.) การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง

2.) รายจ่ายจากการจ้างเงินผู้สูงอายุ รายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รายจ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รายจ่ายค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านเครื่อง EDC รายจ่ายเพื่อส่งเสริมการเนินธุรกิจของ SMEs หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า 

3.) รายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรหักเป็นรายจ่ายได้ 1.5 เท่า 

4.) SMEs รายใหม่ (New Start-Up) ที่จดทะเบียนจัดตั้งในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 รอบระยะเวลาบัญชี 

นอกจากนี้กรมสรรพากรกำหนดมาตรการดูแล SMEs นิติบุคคล จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ในปีภาษี 2563 ได้แก่

1.) ลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ช่วงเมษายน ถึง ธันวาคม 2563 นำมาเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ 1.5 เท่า

2.) รายจ่ายค่าจ้างพนักงานตั้งแต่มกราคม ถึง กรกฏาคม 2563 นำมาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า 

3.) เงินบริจาคหรือสินทรัพย์ช่วย COVID-19 หักเป็นรายจ่ายได้ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ ตั้งแต่ 5 มีนาคม 2563 ถึง 5 มีนาคม 2564 

4.) รายจ่ายในการต่อเติม ปรับปรุงทรัพย์สินของกิจการโรงแรม นำมาเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า 

5.) การอบรมสัมมนาในประเทศ นำมาเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า 

6) ลดอัตราภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการที่มีรายได้จากค่าจ้างทำของ ค่าบริการ ค่านายหน้า ค่าวิชาชีพอิสระ ลดเหลือ 1.5% ในช่วงเมษายน ถึง กันยายน 2563 และ ลดเหลือ 2% ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ถึง กันยายน 2564

และในปีภาษี 2564 กรมสรรพากรได้ปรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุน SMEs สู่ความปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ในยุคดิจิทัล โดยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ถึง 2 เท่า สำหรับค่าซื้อหรือจ้างทำ หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ (Software) ที่จ่ายให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำหรือผู้ให้บริการ ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 อีกด้วย

จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ SMEs นิติบุคคล ดังกล่าวข้างต้น อาจเป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดใหญ่ พิจารณาเลือกจดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล เพื่อให้ได้เปรียบมากกว่าในรูปแบบของบุคคลธรรมดา 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจัดให้มีระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อบันทึกรายรับรายจ่ายของกิจการ รวมถึงการเก็บใบเสร็จหรือใบสำคัญต่าง ๆ ไว้ให้ครบถ้วน เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการแสดงรายการต่างๆ ของธุรกิจ และคำนวณภาษีตามฐานกำไรสุทธิของกิจการต่อไป

.

เขียนโดย : อาจารย์ กมลวรรณ รอดหริ่ง อาจารย์ประจำสาขาการเงิน คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา


ข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์สรรพากร https://www.rd.go.th/47331.html