โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาทฤษฎีความรัก 3 องค์ประกอบ ซึ่งได้แก่ ความใกล้ชิด ความหลงใหล และการผูกมัด จากองค์ประกอบนี้สามารถแยกความรักได้เป็น 7 รูปแบบ

เคยสงสัยกันบ้างไหมคะ ว่าแท้จริงแล้วความรักในชีวิตคนเรามีกี่รูปแบบ สามารถอธิบาย แบ่งแยกได้จากอะไร ผู้เขียนมีโอกาสได้ศึกษาและอ่านบทความที่น่าสนใจ อธิบายถึงนิยามความรัก 7 รูปแบบตามหลักจิตวิทยา 

หากถามว่า รักคืออะไร? แน่นอนว่านักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์พยายามตอบคำถามนี้มาเป็นเวลาหลายปี ในช่วงปี 1986 โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาทฤษฎีความรัก 3 องค์ประกอบ หรือที่ตั้งชื่อว่า ‘สามเหลี่ยมความรัก’ (triangular theory of love) ซึ่งได้แก่ ความใกล้ชิด ความหลงใหล และการผูกมัด จากองค์ประกอบนี้เอง สเติร์นเบิร์ก ได้แยกความรักออกเป็น 7 รูปแบบ คือ

1. ความหลงใหล 

ช่วงนี้นั้นเป็นช่วงที่ผู้คนแทบไม่รู้จักกัน แต่รู้สึกถึงแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน ในความสัมพันธ์นี้คนสองคนมักไม่มีความคิดที่ว่าทั้งคู่มีอะไรเหมือนหรือต่างกัน แต่พวกเขาก็ยังคงอยู่ด้วยกัน

2. ความชอบ

ในความสัมพันธ์นี้ คุณสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ตลอดเวลา ความรักประเภทนี้ ผู้คนมักจะอยู่ด้วยกันเพราะมีความสนใจร่วมกัน มีมุมมองเกี่ยวกับชีวิตและความรู้สึกเข้าใจกัน นักจิตวิทยาเชื่อว่าความใกล้ชิดที่ปราศจากความหลงใหลและการผูกมัดจะส่งผลให้เกิดมิตรภาพมากกว่าความรักที่เต็มเปี่ยม

3. รักที่ว่างเปล่า

ความรักประเภทนี้มีเพียงการผูกมัด โดยปราศจากความใกล้ชิดและความหลงใหล บางครั้งความสัมพันธ์ประเภทนี้จะเกิดขึ้นหลังจากความรักที่ยิ่งใหญ่และเร่าร้อน หรือที่เรียกว่า ‘จุดอิ่มตัว’ คนที่พบกับความรักที่ว่างเปล่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือเพิ่มความหลงใหลให้กับความรู้สึกของพวกเขา

4. รักสายฟ้าแลบ

ความรักประเภทนี้ประกอบด้วยการผูกมัดและความหลงใหล เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคู่รักหลาย ๆ คู่ นี่คือความรักที่เกิดขึ้นเมื่อคน 2 คนดึงดูดซึ่งกันและกันจริง ๆ และพร้อมที่จะทำตามประเพณีบางอย่าง เช่น การแต่งงาน การแลกเปลี่ยนคำปฏิญาณ และการแบ่งปันหน้าที่ในบ้าน แต่ไม่มีความใกล้ชิดสนิทสนมที่แท้จริง

5. ความรักโรแมนติก

ความรักประเภทนี้ประกอบด้วยความหลงใหลและความใกล้ชิด คู่รักรูปแบบนี้ดึงดูดซึ่งกันและกัน และรู้สึกสบายใจที่จะอยู่ข้าง ๆ กัน แต่พวกเขายังไม่พร้อมที่จะให้คำมั่นสัญญาที่จริงจัง ความสัมพันธ์ประเภทนี้มักจะไปไม่ถึงระดับของการอยู่ร่วมกันหรือการแต่งงาน

6. ความรักแบบมิตรภาพ

ความรักแบบเพื่อนประกอบด้วยการผูกมัดและความใกล้ชิด ความสัมพันธ์ดังกล่าวแน่นแฟ้นกว่ามิตรภาพทั่วไปมากและมีความผูกพันที่แท้จริง เป็นข้อตกลงที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ เพราะความรักประเภทนี้ขาดความหลงใหล นักจิตวิทยากล่าวว่าความสัมพันธ์แบบคู่หูสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากรู้จักหรือแต่งงานกันมานานหลายปี

7. ความรักที่สมบูรณ์

ความรักนี้มีองค์ประกอบครบทั้ง 3 คือ ความหลงใหล ความใกล้ชิด และการผูกมัด ในความเป็นจริงแทบจะไม่เห็นความสัมพันธ์ประเภทนี้ แต่ถ้าผู้คนสามารถสร้างความสัมพันธ์นี้ได้ แสดงว่าพวกเขารักกันอย่างแท้จริง คู่รักเหล่านี้มักจะมีชีวิตที่ยืนยาวด้วยกันและมีความสุขกับชีวิตแต่งงาน

บางครั้งการจัดประเภทความรัก อาจจะช่วยให้คุณมองรูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ออกออก และเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับมัน แล้วคุณผู้อ่านเคยพบเจอกับความรักรูปแบบไหนกันมาบ้าง หรือมุ่งหวังให้ความสัมพันธ์ของคุณกับคู่เป็นไปในรูปแบบใด ลองมาแลกเปลี่ยนกันได้นะคะ สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนพบเจอความรักที่พอดีกับตัวเองค่ะ

เขียนโดย: เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES


ข้อมูลอ้างอิง: https://brightside.me/inspiration-relationships/psychologists-defined-7-types-of-love-and-only-few-people-experience-the-last-one-603360/