ธรรมเนียมล้าสมัย!! กระเทาะเปลือก​ ‘สินสอด’ ค่าของ​ 'คน'​ ทำไมต้องวัดด้วยเงินตรา? | Knowledge Times EP.12

???? รอบรู้แบบรู้ลึก ในรายการ ‘Knowledge Times’
???? ธรรมเนียมล้าสมัย!! กระเทาะเปลือก​ ‘สินสอด’ ค่าของ​ 'คน'​ ทำไมต้องวัดด้วยเงินตรา?

‘สินสอด’ เป็นธรรมเนียมที่มีมาช้านานในหลากหลายสังคมโลก รวมถึงเมืองไทยของเรา ซึ่งความแตกต่างของธรรมเนียมส่วนใหญ่ก็มักขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมนั้น ๆ โดยสินสอดบนโลกใบนี้ อาจจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ผ่านผู้รับและผู้จ่าย

- รูปแบบแรก ‘ฝ่ายชายเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนให้กับฝ่ายหญิง’ โดยไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่รับจะต้องเป็นเจ้าสาวโดยตรง แต่อาจรวมไปถึงครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวที่ได้รับทรัพย์สินในส่วนนี้ด้วย 

- รูปแบบที่สอง ‘ฝ่ายหญิงเป็นผู้ให้ค่าตอบแทนแก่ฝ่ายชาย’ โดยมากแล้วทรัพย์สินที่ได้จากค่าตอบแทนผู้ที่รับจะเป็นฝ่ายชายโดยตรง

แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปสินสอดต่าง ๆ เหล่านี้ มีความลึกซึ้งมากกว่าแค่การเป็นค่าตอบแทนสำหรับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่สามารถสะท้อนผ่านความเป็นเศรษฐศาสตร์ ผ่าน 3 แนวคิดที่บอกถึงที่มาและหน้าที่ ของค่าตอบแทนการสมรสได้ดังนี้

แนวคิดแรกเพื่อชดเชยปัจจัยการผลิต โดยการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องจ่ายค่าสินสอด เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของสังคมที่ให้ความสำคัญกับแรงงาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของสังคมเกษตรกรรม เป็นเสมือนการจ่ายเพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่ครอบครัวต้องสูญเสียไปในกรณีของครอบครัวฝ่ายหญิง เช่นในจีน และประเทศในกลุ่มแอฟริกา หรือชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการรับสมาชิกซึ่งไม่มีผลิตภาพเข้าสู่ครัวเรือนในกรณีของฝ่ายชาย

แนวคิดต่อมาเพื่อเป็นแรงจูงใจในตลาดคู่สมรส ซึ่งเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลของประชากรเพศหญิงและเพศชาย ทำให้ต้องมีการกำหนดสินสอดขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจ 

แนวคิดสุดท้ายเพื่อให้ฝ่ายหญิงมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ซึ่งสามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบจาก สินสอดที่ฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิง และ ฝ่ายหญิงมอบให้ฝ่ายชาย 

โดย รูปแบบแรกสินสอดที่ฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิง เป็นเหมือนหลักประกันให้กับหลังชีวิตแต่งงาน หากหย่าร้างหรือฝ่ายชายเสียชีวิต ฝ่ายหญิงจะได้นำทรัพย์สินจากส่วนนี้มาใช้ดำเนินชีวิตต่อได้

รูปแบบที่สองสินสอดที่ฝ่ายหญิงมอบให้ฝ่ายชาย มีขึ้นเพื่อใช้แสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของฝ่ายหญิง แต่จุดประสงค์แต่เดิม คือทรัพย์สินที่ครอบครัวฝ่ายหญิงมอบให้แก่เจ้าสาวเมื่อสมรส จากความต้องการแบ่งมรดกให้กับลูกสาว ก่อนที่บิดามารดาจะเสียชีวิต

แต่ด้วยบริบททางสังคมที่แตกต่างกันและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้วิถีชีวิตปรับเปลี่ยนไป แนวคิดทั้ง 3 รูปแบบ จึงอาจไม่สามารถอธิบายผ่านเศรษฐศาสตร์ได้ทั้งหมด

รวมไปถึงสังคมไทยในปัจจุบัน การเรียกสินสอดโดยครอบครัวฝ่ายหญิง “เพื่อเป็นค่าน้ำนม” และ “เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าฝ่ายชายสามารถเลี้ยงดูบุตรสาวได้” อาจไม่สอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ในข้างต้นเท่าไหร่นัก

โดยวัตถุประสงค์ในการเรียกสินสอดเพื่อเป็นค่าน้ำนม อาจคล้ายกับแนวคิดชดเชยปัจจัยการผลิต ที่มองว่าสินสอดคือส่วนที่มาชดเชยกำลังการผลิตที่ครอบครัวต้องสูญเสียไป แต่ในกรณีของค่าน้ำนม คือ การคิดจากต้นทุนการเลี้ยงดูฝ่ายหญิงมาตั้งแต่อดีต และผลผลิตที่ฝ่ายชายจะได้ในอนาคตทั้งในฐานะแรงงานหรือความพึงพอใจ 

อีกหนึ่งวัตถุประสงค์ของสินสอดในสังคมไทย มีขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้คัดกรองสถานภาพทางสังคม รวมถึงประกาศสถานะทางการเงิน ความพร้อมของฝ่ายชายผ่านมูลค่าสินสอด และใช้สร้างกำแพงสำหรับกีดกันคู่แข่งอื่น ๆ ที่มีฐานะไม่เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายหญิง

จะเห็นได้ว่า ‘สินสอด’ เป็นธรรมเนียมที่อยู่ในทุกสังคมโลก แม้อาจดูเป็นเหมือนเครื่องมือในการวัดค่าความเป็นคนผ่านเม็ดเงิน แต่เมื่อมองลึกลงไป ‘สินสอด’ คือสิ่งที่สะท้อนสังคมและแสดงให้เห็นถึงความเป็นเศรษฐศาสตร์ ต้นทุน ผลผลิต ที่รวมไปถึงหลักประกันคุณภาพชีวิตเมื่อทั้งสองฝ่ายตัดสินใจก้าวออกไปสร้างครอบครัวเป็นของตนเอง

.

.


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
- ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
- รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
- สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
- แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9