“ข้อเท้าแพลง” เกิดจากอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บที่ได้จากการทำกิจกรรมรวมไปถึงการสวมรองเท้าที่ไม่สบายเท้าทำให้เกิดข้อเท้าแพลง ถ้าเราปล่อยอาการไว้นานอาจจะทำให้เส้นเอ็นฉีดขาดได้ !

“ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain)” เกิดจากอุบัติเหตุโดยเฉพาะการหกล้ม, การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือ การสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับขนาดเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคุณผู้หญิงที่ใช้รองเท้าส้นสูงจะเพิ่มโอกาสเกิดข้อเท้าแพลงได้ ซึ่งการบาดเจ็บดังกล่าวส่งผลต่อเอ็นข้อเท้าบริเวณตาตุ่ม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยของ American Academy of Orthopedic Surgeons พบว่าหากข้อเท้าพลิกบ่อย ๆ หรือเกิดข้อเท้าแพลงซ้ำ ๆ อาจนำไปสู่ปัญหาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง ข้อเท้าเสื่อม และเกิดภาวะข้อเท้าไม่มั่นคงได้ ทำให้การรักษาข้อเท้าแพลงกลายเป็นเรื่องไม่ง่ายและใช้เวลานานกว่าจะหายขาด จนทำให้เป็นที่มาของคำว่า “ข้อเท้าแพลง” 

อาการข้อเท้าแพลงส่วนมากมักเกิดจากการพลิกของข้อเท้าเข้าสู่ด้านในแล้วเกิดอาการบาดเจ็บที่เอ็นข้อเท้าบริเวณตาตุ่มด้านนอก เนื่องจากเส้นเอ็นในบริเวณดังกล่าวเกิดการยืดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ข้อเท้าแพลงแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 

ระยะแรก มีอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

ระยะที่สอง มีอาการบาดเจ็บจากเส้นเอ็นที่ฉีกขาด แต่ไม่ถึงครึ่งของเส้นเอ็น 

ระยะที่สาม เส้นเอ็นฉีกขาดทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถลงน้ำหนักได้ 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นใช้หลักการของ RICE ได้แก่

>> Rest - พัก หากทำกิจกรรมอะไรอยู่ต้องหยุดพัก ไม่ว่าจะเดินหรือเล่นกีฬา และหลีกเลี่ยงการใช้งาน
>> Ice - น้ำแข็งหรือการประคบด้วยความเย็น ควรรีบทำทันทีเพื่อให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้ลดอาการบวมและลดความเจ็บปวด
>> Compression - รัด เพื่อลดอาการบวม
>> Elevation - ยกให้สูงขึ้น เพื่อให้เลือดไหลลงได้สะดวก ช่วยลดอาการบวม

โดยปกติ ถ้าหากมีอาการข้อเท้าแพลงแบบไม่รุนแรง สามารถประคบด้วยความเย็นร่วมกับรับประทานยาแก้ปวด ซึ่งอาการปวดจะลดลงภายใน 2-3 วัน และหายขาดภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้ารุนแรงถึงขั้นข้อเท้าหลวม มีการปวดเรื้อรังเมื่อเวลาผ่านไป 2-3 เดือน แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด 

สำหรับผู้ที่เคยข้อเท้าแพลง มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดข้อเท้าแพลงซ้ำได้อีกภายในปีเดียวกัน เนื่องจากเส้นเอ็นเคยได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับข้อเท้ามีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้ข้อเท้าแพลงบ่อย ๆ และลดอาการปวดข้อเท้าเรื้อรังได้ ดังนี้

1.) ยืนเขย่งปลายเท้าสลับกับยืนบนส้นเท้า (Standing heel/toe rocking) ทำ 20 ครั้ง 3 รอบ

2.) ยืนทรงตัวด้วยขาเดียวนาน 1 นาที 

ทำ 3 รอบ (สลับข้างซ้าย-ขวานับเป็น 1 รอบ) ช่วยกระตุ้นการรับรู้ของข้อเท้าในการทรงตัว (Ankle proprioception/balance) อาจยืนบนพื้นปกติ (แบบง่าย) หรือยืนบนพื้นนุ่ม เช่น บนเบาะนิ่ม ๆ หรือบนพื้นทราย เพื่อเพิ่มความยาก

3.) ยืดกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวายในท่ายืน

โดยก้าวขาไปข้างหน้า 1 ข้าง ปลายเท้าชี้ตรงไปด้านหน้าทั้งสองเท้า โน้มตัวไปข้างหน้า โดยส้นเท้าหลังไม่ยกจากพื้น และต้องรู้สึกตึงที่น่องของขาที่อยู่ด้านหลัง ยืดค้างไว้ 30 วินาที 3 รอบ (สลับขาและทำแบบเดียวกัน)

โดยทั้ง 3 ท่าที่แนะนำสามารถทำได้ทุกวันหรือหากท่านใดมีการบาดเจ็บของข้อเท้า ควรขอคำปรึกษาและออกกำลังกายภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัดหรือแพทย์หลังจากที่ได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้ว

.

เขียนโดย  : กภ. สุวนีย์ งามพงศ์วาณิช
นักกายภาพบำบัด (ระบบกระดูกกล้ามเนื้อ) ผู้บริหารและหุ้นส่วน กันยาคลินิกกายภาพบำบัด -M.Sc. Exercise Physiology -Graduate Diploma (Manipulative Physical Therapy), Mahidol University -B.Sc. Physical Therapy, Mahidol University


เอกสารอ้างอิง
- Tran K, McCormack S. Exercise for the Treatment of Ankle Sprain: A Review of Clinical Effectiveness and Guidelines [Internet]. Ottawa (ON): Canadian Agency for Drugs and Technologies in Health; 2020 Apr 3. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK563007/
- Wells B, Allen C, Deyle G, Croy T. MANAGEMENT OF ACUTE GRADE II LATERAL ANKLE SPRAINS WITH AN EMPHASIS ON LIGAMENT PROTECTION: A DESCRIPTIVE CASE SERIES. Int J Sports Phys Ther. 2019;14(3):445-458. doi:10.26603/ijspt20190445
- https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/อันตรายจาก-ข้อเท้าพลิก/