หลาย ๆ คนมักมีปัญหาใน ”การจัดฟัน” ที่ใช้เวลาอย่างมากถ้าเครื่องมือจัดฟันอยู่ในช่องปากเรานานเกินไปก็อาจจะส่งผลเสียในระยะยาวได้ การมีวินัยในเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการจัดฟัน

การจัดฟัน เป็นการรักษาทางทันตกรรมอย่างหนึ่งที่ช่วยให้การเคี้ยวอาหารดีขึ้น ฟันเรียงเรียบสวย มีบุคลิกภาพดี รู้สึกมั่นใจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การมีเครื่องมือจัดฟันอยู่ในปากนานเกินไปไม่ใช่เรื่องที่ดี และมีความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น แปรงฟันทำความสะอาดยาก เกิดฟันผุ หินปูน เหงือกอักเสบ และเครื่องมือบาดกระพุ้งแก้มเป็นแผล เป็นต้น เพราะฉะนั้นวันนี้หมอมี 7 วิธี ที่ช่วยให้การจัดฟันเสร็จไวขึ้น 

1.) หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่มีลักษณะแข็ง เช่น ห้ามเคี้ยวน้ำแข็งเด็ดขาด ส่วนของทอดกรอบ เมล็ดถั่วต่าง ๆ ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือให้เคี้ยวเบา ๆ เพราะการเคี้ยวอาหารที่มีลักษณะแข็งมีโอกาสทำให้เครื่องมือจัดฟันหลุดหรือทำให้ลวดจัดฟันงอและบิดเบี้ยว ส่งผลให้ฟันเคลื่อนที่ผิดทางหรือล้มเอียงตามลวดที่บิดงอ ทำให้ทันตแพทย์จัดฟันต้องเสียเวลาแก้ไขความผิดปกติมากขึ้นและเพิ่มระยะเวลาในการจัดฟันนานขึ้นได้

2.) หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง ลูกอม ของหวาน และน้ำอัดลม เพราะมีโอกาสทำให้เกิดฟันผุในระหว่างจัดฟันได้

3.) ควรทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี ด้วยการแปรงฟันให้สะอาด การใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ หรือใช้อุปกรณ์เสริมตามคำแนะนำของทันตแพทย์จัดฟัน เช่น แปรงซอกฟัน จะช่วยป้องกันการเกิดฟันผุและหินปูนที่ตัวฟัน ลดโอกาสเหงือกอักเสบระหว่างจัดฟัน และการมีเครื่องมือจัดฟันที่สะอาด ไม่มีหินปูนมาเกาะบนเครื่องมือจัดฟัน จะทำให้ฟันสามารถเคลื่อนไปบนลวดจัดฟันได้ไวขึ้น 

4.) คล้องยางจัดฟันสม่ำเสมอตามคำแนะนำของทันตแพทย์จัดฟัน ในบางขั้นตอนของการจัดฟัน ทันตแพทย์จัดฟันจำเป็นต้องให้คนไข้คล้องยางดึงฟัน หากคนไข้ไม่ให้ความร่วมมือในคล้องยางดึงฟัน ฟันก็จะไม่เคลื่อนไปในตำแหน่งที่ทันตแพทย์จัดฟันวางแผนไว้ โดยทั่วไปการคล้องยางดึงฟันนั้น ทันตแพทย์จัดฟันมักแนะนำให้คนไข้คล้องยางดึงฟันตลอดเวลา ยกเว้นช่วงทานอาหารและแปรงฟันเท่านั้น หมายความว่าใน 1 วันหรือ 24 ชั่วโมง คนไข้จำเป็นจะต้องใส่ยางดึงฟันอย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเพียงพอที่ทำให้ฟันเคลื่อนที่ไปได้และจำเป็นต้องเปลี่ยนยางวงใหม่วันละ 1 ครั้ง 

5.) มารักษาตามนัดหมายเป็นประจำเพราะการจัดฟันจำเป็นจะต้องมาตรวจเช็ค ปรับเครื่องมือ และดึงฟัน หากไม่มาทำการรักษาตามนัดหมาย จะทำให้ระยะเวลาการรักษานานขึ้น อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ฟันเคลื่อนผิดทิศทางหรือเคลื่อนมากเกินไป

6.) เลือกเครื่องมือจัดฟันที่เหมาะสมกับตนเอง โดยปรึกษาทันตแพทย์จัดฟันที่ให้การรักษา เช่น เครื่องมือจัดฟันติดแน่นแบบรัดยาง เครื่องมือจัดฟันติดแน่นแบบไม่รัดยาง หรือเครื่องมือจัดฟันแบบใส เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือแต่ละชนิดมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน

7.) เลือกคลินิกที่สามารถเดินทางได้สะดวกหรือใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน เพราะถ้าเลือกคลินิกที่ต้องเดินทางไกล คนไข้มักจะเบื่อในการเดินทางมาคลินิก มีโอกาสที่จะขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่า การจัดฟันนั้นจำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนไข้ หากคนไข้ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาแล้ว มักส่งผลให้การรักษาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ทันตแพทย์จัดฟันวางแผนการรักษาไว้ได้ และทำให้ระยะเวลาการรักษายาวนานขึ้นได้


เขียนโดย : ทพ. โอภาศ วิวัฒน์วรกุล ทันตแพทย์เฉพาะทาง ทันตกรรมจัดฟัน