Marie Curie นักเคมี ผู้ช่วยชีวิตมนุษยชาติพ้นจากมะเร็งร้าย

ถ้าจะพูดถึงโรคร้ายที่ใครหลาย ๆ คนไม่คิดไม่ฝันที่อยากจะเป็นนอกจาก โควิด-19 แล้วโรคมะเร็งก็ถือว่าเป็นโรคอันดับหนึ่งที่ผู้คนไม่อยากจะเป็น แต่กลับกันโรคมะเร็งในปัจจุบันได้คร่าชีวิตผู้คนมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เมื่อย้อนกลับไปโรคมะเร็งถือว่าเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา จน “Marie Curie” นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้คิดและค้นพบตัวธาตุที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้สำเร็จ วันนี้ THE STUDY TIMES จะขอกล่าวถึงประวัติและผลงานที่สำคัญของ Marie Curie ที่ได้ช่วยชีวิตผู้คนจากโรคมะเร็งได้กันค่ะ 

ชื่อเดิมของ Marie Curie คือ Marie Sklodowska เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1867 ณ เมืองวอร์ซอ เมืองหลวงของประเทศโปแลนด์ มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด 5 คน โดยพ่อของ Marie เป็นอาจารย์สอนวิชาวิทยาศาสตร์ และแม่เป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ ทำให้ Marie นั้นได้มีความชื่นชอบและสนใจในด้านของวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก หลังจบการศึกษาระดับมัธยม 

ด้วยสถานะทางบ้านที่ไม่ค่อยดีทำให้ Marie กับพี่สาว ทำงานเป็นอาจารย์สอนในระดับอนุบาลเพื่อหาเงินเรียนต่อมหาวิทยาลัย จน Marie สามารถเรียนจบปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1893 และได้เริ่มทำงานในห้องปฏิบัติการทางอุตสาหกรรมของศาสตราจารย์ Abriel Lippmann และเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปารีสจนจบปริญญาโทในปี ค.ศ. 1894

ในขณะที่ Marie ทำงานเป็นผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการทางเคมี ทำให้ Marie พบกับ Pierre Curie เป็นนักฟิสิกส์ที่ทำงานอยู่ที่เดียวกับ Marie โดยทั้งสองเริ่มสนิทกันจากความสนใจในด้านแม่เหล็ก แร่ธาตุต่าง ๆ ทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานกันและมีลูกด้วยกัน 2 คน แต่ก็ยังไม่ทิ้งในเรื่องของวิทยาศาสตร์ทั้งตัว Marie และ Pierre ร่วมศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการแผ่รังสีของแร่ด้วยกันต่อจากนั้น

ในช่วงเวลานั้น ที่ประเทศฝรั่งเศสมีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่สนใจในเรื่องของรังสี แร่ธาตุต่าง ๆ โดยหนึ่งในผู้คนพบรังสีชนิดใหม่ คือ Antoine Henri Becquerel นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส เพื่อนสนิทของ Pierre ผู้ค้นพบปรากฏการณ์การแผ่รังสีจากแร่ยูเรเนียม (Uranium) ทำให้ทั้ง Marie และ Pierre จึงศึกษาค้นคว้าต่อไปจนถึงแหล่งพลังงาน พวกเขาสืบเสาะไปจนพบว่าแหล่งที่มาของพลังงานที่แผ่ออกมาคือ แร่พิตช์เบลนด์ (Pitchblende) ซึ่งเป็นออกไซด์ชนิดหนึ่งของแร่ยูเรเนียม โดยหลังจากพยายามสกัดแร่พิตช์เบลด์ออกมา Marie และ Pierre ก็ได้ค้นพบธาตุชนิดใหม่ โดยตั้งชื่อว่า โปโลเนียม (Polonium) เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศโปแลนด์ บ้านเกิดของ Marie

และในปี ค.ศ. 1898 Marie และ Pierre จึงได้ศึกษาต่อเพิ่มเติม โดยทั้งคู่ได้ตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะยังมีสารประกอบที่อยู่ในแร่พิตช์เบลด์อีกมาก หลังจากพยายามมานานกว่า 5 เดือนหลังทั้งคู่ก็ได้พบกับธาตุชนิดใหม่ โดยตั้งชื่อธาตุนี้ว่า เรเดียม (Radium) ในภาษากรีกแปลว่าแสง ซึ่งธาตุเรเดียมนี้สามารถแผ่รังสีออกมาได้มากกว่ายูเรเนียมหลายเท่า และธาตุเรเดียมยังสามารถส่องผ่านเนื้อหนังของมนุษย์ได้

ทั้งคู่ได้สังเกตเห็นว่า ธาตุเรเดียมสามารถแผ่รังสีพลังงานลึกถึงภายในของเนื้อเยื่อ จนส่งผลให้มือของ Marie แห้งกร้าน และลอกเป็นชั้นสีดำเหมือนโดนไฟไหม้ ในขณะที่ Pierre เก็บธาตุเรเดียมเพียงไม่กี่มิลลิกรัมในกระเป๋าเสื้อ ตัวแร่ธาตุก็ทำให้เสื้อของ Pierre ไหม้และทำให้เกิดรอบแผลเป็นบริเวณหน้าอก 

จึงทำให้ทั้งคู่ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นทั้ง Marie และ Pierre ได้ร่วมมือกับ Antoine ในการคิดค้นและวิจัย ทำให้ทั้ง 3 คนได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในฐานะกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาปรากฏการณ์กัมมันตภาพรังสี (Radioactivity) 

และจากการที่ Marie และ Pierre ได้ค้นพบธาตุเรเดียมทำให้ Marie ได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีสซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกของประเทศฝรั่งเศส แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจคือ Pierre ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทำให้ Marie โศกเศร้าเสียใจแต่ก็ยังศึกษาในเรื่องของแร่ธาตุต่อไป 

และในปี ค.ศ. 1911 Marie ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยปารีส ในการตั้งสถาบันเรเดียม เพื่อค้นคว้าการใช้ประโยชน์จากธาตุเรเดียม ทําให้ Marie รวมถึงทีมนักวิจัยค้นพบว่าเรเดียมมีคุณสมบัติทางการแพทย์ที่สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นเครื่องมือรักษาโรคมะเร็งบางอวัยวะได้โดยการใช้ธาตุเรเดียมยิงไปที่เซลล์มะเร็งด้วยอนุภาคกัมมันตรังสี

จากผลงานนี้เองทำให้ Marie ได้รับรางวัลโนเบลอีกครั้ง ในสาขาเคมีจากการค้นพบธาตุพอโลเนียมและเรเดียม ซึ่งการรับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้งของมารีทำให้มารีกลายเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล 2 สาขาเพียงคนเดียวในโลก

ด้วยความสำเร็จของ Marie ในปี ค.ศ. 1933 ได้ทำการจัดตั้งมูลนิธิ Curie Foundation เพื่อทำหน้าที่ในการสนับสนุนการวิจัยด้านงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนทางการแพทย์ และในปี ค.ศ. 1953 สถาบันแห่งนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของสถาบันวิจัยมะเร็งในหลายประเทศ และเริ่มใช้งานด้านวิทยาศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสังคมมากขึ้น

และช่วง Marie อายุ 58 ปี สุขภาพเริ่มทรุดโทรมหนักมากขึ้น เริ่มมีอาการหูหนวก ตาบอด และมีรอยไหม้ที่ตามมือ ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เวลาทำการทดลองรังสีต่าง ๆ ทำให้ถูกรังสีจากสารกัมมันตภาพรังสีเผาตามอวัยวะ ในเวลาต่อมา Marie ป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลโอตซาวัว (Haute Savoie) และเสียชีวิตในวัย 67 ปี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1934

นับได้ว่า Marie Curie คือบุคคลที่เสียสละและสร้างประโยชน์หลายอย่าง เป็นสิ่งที่เกิดจากความรักในการทดลอง ความสนใจ ความชอบในวิชาชีพของตัวเองถึงแม้อาจจะทำให้ตัวเองต้องบาดเจ็บแต่ผลลัพธ์หรือสิ่งที่เธอได้จากการค้นคว้าและวิจัยนี้สามารถต่อชีวิต และ ลมหายใจให้กับผู้คนอีกหลายล้านคน ถึงแม้เธอจะจากไป แต่คุณงามความดีและบทเรียนที่ได้จากการทดลองของ Marie สามารถต่อยอดและทำให้มีการวิจัยพัฒนาทางการแพทย์จนถึงปัจจุบัน 


แหล่งข้อมูล 
https://thepeople.co/marie-curie-radioactivity/
https://www.scimath.org/article-science/item/11461-19-marie-curie
https://www.takieng.com/stories/8714