คุณนาดา นาดา ไชยจิตต์ | THE STUDY TIMES STORY EP.53

บทสัมภาษณ์ คุณนาดา นาดา ไชยจิตต์ ปริญญาโท ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ LL.M International Human Rights Law, School of Law, University of Essex, สหราชอาณาจักร
นักสิทธิมนุษยชน ผู้ขับเคลื่อนและผลักดัน 'ความเท่าเทียมทางเพศ'

จุดเริ่มต้นความสนใจของคุณนาดาที่มีต่อคณะนิติศาสตร์นั้น ในตอนแรกไม่มีความคิดที่จะชอบในสาขาวิชานิติศาสตร์ แต่เกิดจากการที่ไปชุมนุม อยากที่จะให้ประเทศไทยทำกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน คุณนาดามีแรงขับเคลื่อนในด้านนี้ แต่ไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย เพราะไม่รู้ว่าภาษาที่เขียนในกฎหมายเป็นอย่างไร จึงตัดสินใจเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ มีความตั้งใจที่จะเป็นนักกฎหมายให้ได้

หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่ง คุณนาดาค้นพบว่าความฝันที่อยากทำงานในด้านนี้มีหลายสาย จึงกลับมาทบทวนกับตัวเองว่าวุฒินิติศาสตร์บัณฑิตอาจยังไม่พอ ประกอบกับอัตลักษณ์ที่เป็น สถาบันทางสังคมท้าทายเกิดเป็นแรงผลักให้ต้องไปต่อ จนได้รับทุน Chevening ซึ่งเป็นทุนที่มอบให้กับผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ทุนนี้ไม่ได้มองหาคนที่เก่งหรือฉลาด แต่มองหาคนที่มีความฝัน มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง จนสุดท้ายคุณนาดาได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ LL.M International Human Rights Law, School of Law, University of Essex ณ ประเทศอังกฤษ

คุณนาดากล่าวว่า ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ University of Essex มีชื่อเสียงและโดดเด่นติดอันดับโลก การที่คุณนาดาเลือกเรียนที่นี่เพราะเชื่อมั่นว่าตัวเองจะได้รับองค์ความรู้มาจัดการปัญหา ทำให้สังคมเข้าใจว่าประเด็นความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ

สำหรับประสบการณ์การเรียนที่ต่างประเทศหลักสูตร 1 ปี คุณนาดาใช้เวลาในช่วงแรกไปกับการเรียน จนได้เข้าร่วมกิจกรรมศาลจำลอง มีการให้นักศึกษาได้ฝึกเป็นทนายความ มีการจัดอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิความหมายทางเพศโดยตรง ทำให้คุณนาดาได้เจอกับนักกฎหมายที่มีความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก

การใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษ คุณนาดารู้สึกว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความน่าอยู่ มีระบบการจัดการที่ดี มีระบบสวัสดิการด้านสุขภาพที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้คุณนาดารู้สึกสบายใจ อีกทั้งมีระบบการดูแลนักศึกษา คอยดูแลและให้คำปรึกษาปัญหาทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่คุณนาดาประทับใจมาก 

ที่ประเทศอังกฤษ คุณนาดาเล่าว่า สามารถสูดลมหายใจแห่งเสรีภาพเข้าปอดได้ตลอดเวลา ไม่ต้องมานั่งเครียดว่าใครจะมองว่าเราเป็นเพศอะไร ได้รับการปฏิบัติที่ดี ประเทศอังกฤษส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ส่งเสริมในเรื่องของความหลากหลาย เพราะเชื่อว่าความหลากหลายนำมาซึ่งประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีกลไกในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิที่แข็งแรงมาก

สำหรับจุดเริ่มต้นที่คุณนาดาสนใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชน เริ่มต้นจากการที่คุณนาดาไปสมัครงานด้านเอกสาร แต่ทางบริษัทบอกว่างานนี้รับเฉพาะผู้หญิง เพราะต้องการความละเอียดอ่อน แต่เมื่อจะไปทำงานใช้แรงแบบผู้ชายก็ไม่รับ เพราะต้องการคนที่แข็งแรง คุณนาดามองว่าบทบาททางสังคมที่เกี่ยวข้องกับอาชีพถูกผูกติดกับบทบาททางเพศ จึงตัดสินใจที่จะไม่ทำงานที่บริษัทแห่งนั้น และไปสมัครงานเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิบทบาททางเพศ กระทั่งมีบทบาทร่วมขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ 

ปัจจุบันคุณนาดาเป็นที่ปรึกษางานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Campaign Advisor) ที่มูลนิธิมานุษยะ ดูแลเรื่องของกลไกลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียม ให้กับกรรมการบริหารของสมาคมท้องฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

คุณนาดาฝากทิ้งท้ายว่า ไม่ต้องเร่งรีบหรือท้อถอยกับการตามหาความฝันของตัวเอง ให้เวลากับตัวเอง คือหัวใจสำคัญที่สุด
.

.

.

.