“ศรีสุวรรณ” พร้อมแพทย์เวชกรรม ยื่นศาล รธน. วินิจฉัยกรณีหญิงตั้งท้องประสงค์ทำแท้งขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ หวั่นกม.กระทบจิตใจหมอ
ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมคณะแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอใช้อำนาจตามมาตรา231 ของรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา301 มาตรา305(3) มาตรา305(4) และ มาตรา305(5) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา26 ประกอบ มาตรา4 มาตรา25 มาตรา26 มาตรา27 มาตรา28 มาตรา50(6) และ มาตรา77 วรรคสอง หรือไม่ ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้หญิงที่ตั้งครรภ์หากประสงค์จะทำแท้งก็สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองโดยไม่มีความผิด แม้อายุครรภ์จะมากกว่า 12 ถึง 20 สัปดาห์ และหากจะให้แพทย์ทำแท้งให้ก็เพียงแค่ยืนยัน ว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศเท่านั้น ก็สามารถทำแท้งได้เลย โดยไม่ต้องมีข้อบ่งชี้หรือหลักฐานยืนยันเสียก่อน อันถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เลวร้ายที่สุดของไทย
แต่เมื่อกฎหมายดังกล่าวได้มีการบังคับใช้มาแล้ว ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจำต้องทำแท้งให้คนท้อง เป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจแพทย์ที่ต้องทำหน้าที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก แม้ในทางกฎหมายจะยังไม่ถือว่าทารกในท้องยังไม่มี “สภาพบุคคล” แต่ในทางการแพทย์ตามศัพภวิทยา (Embryology) ระบุว่า “เด็กอายุครรภ์ 3 เดือนหรือ 12 สัปดาห์นั้น มีอวัยวะต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว มีอวัยวะเพศชัดเจน มีหัวใจเต้นเร็ว มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย เนื่องจากระบบประสาททำงานแล้ว มิใช่เป็นเพียงก้อนเลือดอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจ
การที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งทารถที่มีอายุครรภ์ดังกล่าว จึงชัดเจนว่าเป็นการทำลายมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นบาดแผลในจิตใจของแพทย์ผู้กระทำและมารดาไปตลอดชีวิต ซึ่งแพทย์ทุกคนมีหน้าที่สำคัญในการธำรงไว้ซึ่งจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมซึ่งเป็นมโนธรรมชั้นสูง” อีกทั้ง ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ยึดมั่นในศีล 5 ข้อเป็นหลักนำทางชีวิต และข้อที่หนักและสำคัญที่สุดคือ ศีล ข้อที่หนึ่ง เรื่องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หากละเมิด ย่อมมีรู้สึกขัดแย้งภายใน ความเชื่อทางศาสนา ศีลธรรม บาปบุญ ต่อตัวเองและครอบครัว เป็นปัจเจกบุคคล จะล้มล้างไม่ได้
กฎหมายดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทบต่อมโนธรรมชั้นสูงของความเป็นแพทย์ และจะสร้างบาดแผลในจิตใจของแพทย์ผู้กระทำและมารดาของทารกไปตลอดชีวิต ซึ่งชัดเจนว่าจะเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะสูตินรีแพทย์ จึงเป็นกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อ มาตรา26 ประกอบ มาตรา4 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยตรง เหตุนี้แพทย์ทางเวชกรรม สูตินรีแพทย์จึงมอบฉันทะให้สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยนำความนี้ยื่นเป็นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า การตรากฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หลายมาตราหรือไม่