“เด็ก ภท.” จับมือ “พรรคชัช เตาปูน” ขู่ยื่นศาลรธน. ตีความปมแก้จำนวนส.ส. 400 ไม่สอดคล้อง ม.86
ที่รัฐสภา นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย พร้อมด้วยนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหาราชการรูปแบบพิเศษ แถลงถึงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมร่างที่ 13 ในมาตรา 83 และมาตรา 91 ที่เสนอโดยนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ กับคณะ ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบในขั้นรับหลักการไปแล้วนั้น โดยนายโกวิทย์ กล่าวว่า ร่างฉบับนี้มีความไม่สมบูรณ์ครบถ้วนในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในมาตราอื่นๆ ซึ่งร่างขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 นี้ ไม่ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 86 ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น มาตรา 86 ซึ่งมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคิดคะแนนและการแบ่งเขต รวมถึงการได้มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะในมาตรา 86 ที่บัญญัติไว้ถึงจำนวนสมาชิกที่มาจากจังหวัดและเขต 350 เขต ที่ขัดแย้งกับตัวร่างแก้ไขในมาตรา 83 และมาตรา 91 ที่ผ่านการรับหลักการไป และมีความกังวลว่า กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จะดำเนินการต่อไปอย่างไร และส.ส.จะแปรญัตติอย่างไร เพราะร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอว่าให้มี ส.ส.เขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งจะทำให้มีจำนวน ส.ส.เกินจำนวน
นายโกวิทย์ กล่าวต่อว่า กมธ.หลายคนบอกว่าเมื่อรับหลักการไปแล้วก็สามารถแก้ไขได้ในขั้นแปรญัตติ ตนยืนยันว่าแก้ไม่ได้ หากยังไม่แก้มาตรา 86 ให้สอดคล้องกับจำนวน 400 คน รวมถึงมาตราอื่น ๆ ให้มีความสอดคล้องกัน โดยอาจจะพิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ ก่อนที่ กมธ. จะเดินหน้าพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ
ด้านนายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 นั้น ตนกลัวว่าจะเป็นการเสนอมาโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากการแก้มาตรา 83 และ 91 นั้นเป็นสาระสำคัญ และเป็นการทำงานแบบเร่งรีบ ตั้งเป้าขยายเขตเพื่อจะได้มาให้ครบ 400 คน ไม่ได้ดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 60 ทั้งยังไม่มองเป้าประสงค์ของประชาชนว่าต้องการอยู่ดีกินดี ต้องการให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ต้องการให้แก้ปัญหาโควิด-19 เป็นต้น ตนเข้าใจว่าพรรคการเมืองต้องการชิงความได้เปรียบในการยกร่างรัฐธรรมนูญและต้องการทำให้พรรคเล็กไม่สามารถเดินเข้าสู่พื้นที่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน
เมื่อถามว่าข้อกังวลนี้จะทำให้พรรคเล็กหรือ ส.ส.จะไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตีความหรือไม่ นายโกวิทย์ กล่าวว่า มีแน่นอน ฝั่ง ส.ว.หลายคนก็เกิดความสงสัย ในส่วนของพรรคพลังท้องถิ่นไทยจะหารือกันว่าหากยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นรายบุคคลได้โดยไม่ต้องให้ประธานรัฐสภาเป็นคนยื่น พรรคเราก็จะยื่นเอง ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำเป็นรายมาตรา แต่การแก้รายมาตราไม่ได้ถูกแก้มาในการร่างครั้งนี้ เราจึงฟันธงว่าเป็นการลุกลี้ลุกลนของ ส.ส. ที่อยากแก้ให้มี ส.ส.มากกว่าเดิมหรือไม่ แก้เพื่อต้องการกำจัดพรรคเล็กหรือไม่ แม้พรรคพลังท้องถิ่นไทยจะเป็นพรรคเล็กแต่ก็ไม่ได้กังวล ซึ่งก็ต้องชื่นชมนายจุรินทร์ เพราะร่างฉบับที่ 13 มีความแตกต่างกับร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชารัฐ เพราะไม่ได้ใช้คะแนนขั้นต่ำ พรรคเล็กจึงยังมีโอกาสหากมีนโยบายที่ดีให้ประชาชนได้ขานรับ