ทุเรียนไทยยังโดนใจจีน!! ปิดดีล​ 45​ นาที​ ขนเต็มลำ​ 25​ ตัน​ ส่งตรงจีนกว่าหมื่นลูก หลัง​ 'ก.เกษตรฯ'​ โชว์!! กลยุทธ์สั่งซื้อล่วงหน้า​ พาทุเรียนไทยทุบสถิติขายหมดล็อตสองในจีน เกลี้ยง!!

'อลงกรณ์'​ เผยเคล็ดลับแพลตฟอร์มพรีออเดอร์ดันทุเรียนไทยขายดีในจีน​ ด้านเจ้ากระทรวงเกษตรสั่งขยายผลสินค้าเกษตรอื่นๆ​ ต่อทันที

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้​ (Fruit Board) เปิดเผยถึงความสำเร็จของ​ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นครั้งที่​ 2​ ภายใน​ 2​ สัปดาห์​ ในการส่งออกทุเรียนทางเครื่องบินล็อตที่สองไปจีนจำนวน 25 ตัน​ (11,200ลูก) สู่เมืองซีอาน​ เมืองเอกของมณฑลส่านซีในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน​ ด้วยกลยุทธ์ 'ระบบสั่งซื้อล่วงหน้า'​ (Pre order platform) เมื่อวันที่​ 8​ พ.ค.​ ที่ผ่านมา​ โดยใช้เวลาขายออนไลน์หมดภายในเวลาเพียง​ 45​ นาที 

“ก่อนหน้านี้​ เราได้ทดลองขายด้วยแพลตฟอร์มใหม่เป็นครั้งแรก​ 20​ ตัน​ ใช้เวลา​ 9​ ชั่วโมง​ ซึ่งตื่นเต้นกันมาก​ เพราะว่าขายไม่ถึงวันได้เกือบหมื่นลูกเต็มลำเครื่องบิน​ โดยและขนขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิส่งไปยังเมืองเซินเจิ้นเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา 

"แต่เมื่อวานนี้​ เราใช้เวลาขายไม่ถึงชั่วโมงกับการขายทุเรียนเต็มลำ​ 25​ ตัน​ ผ่านระบบสั่งซื้อล่วงหน้า( Pre-Order platform) เป็นครั้งที่​ 2​ ไปยังประเทศจีน​ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของผลไม้ไทย" 

สำหรับในรอบที่​ 2​ นี้​ เป็นการเปิดตลาดตอนในของจีนอย่าง​ มณฑลส่านซี​ ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือด้วยแพลตฟอร์มใหม่​ บนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตร, กระทรวงพาณิชย์,  บริษัทเอกชนและสหกรณ์ผลไม้​ เช่น​ สหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี​ และเป็นการสร้างแบรนด์ทุเรียนไทยในระดับสหกรณ์ผลไม้​ (Cooperative Farm based Branding) ตามแนวทางเกษตรสร้างสรรค์​ (Creative Agriculture) ต่อไปเกษตรกรชาวสวนทุเรียนและสหกรณ์จะสามารถขายได้ราคาสูงขึ้น 

หลังความสำเร็จในครั้งนี้​ ทาง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ ก็ได้สั่งการให้ขยายผลไปยังสินค้าเกษตรอื่นๆ​ ต่อทันที

นายอลงกรณ์​ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยความสำเร็จคือ​ การเน้นคุณภาพและมาตรฐานของทุเรียนในระบบ​ GAP และ​ GMP ระบบตรวจสอบย้อนกลับ​ (Traceability) ระบบการประกันสินค้า, ระบบทรัพย์สินทางปัญญา​ (สร้างแบรนด์) การสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า​ (Trust) และความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาคเกษตรกรและกระทรวงเกษตรฯ​ 

โดยทั้งหมดอยู่​ ภายใต้​ '5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย'​ ​ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการปฏิรูปไม้ผลทั้งระบบของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) และการขับเคลื่อนโมเดล​ 'เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด' ที่ร่วมกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ โดยโครงการนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณใดๆ​ แต่เป็นระบบที่ให้เอกชนรับผิดชอบการขายและการขนส่งโลจิสติกส์ภายใต้แพลตฟอร์มที่คณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซของกระทรวงเกษตรฯและฟรุ้ทบอร์ดออกแบบ 

อลงกรณ์​ ทิ้งท้ายอีกว่า​ หลังจากออเดอร์ของทุเรียนไทยดีลถึงมือชาวเมืองซีอานและผู้ประกอบการจีน​ พวกเขาต่างตื่นเต้นที่จะได้ลิ้มรสทุเรียนคุณภาพสดจากสวนทุเรียนเมืองจันทบุรีถึงกับขึ้นป้ายต้อนรับที่สนามบินกันเลยทีเดียว