เกษตรทันสมัย!! 'ก.เกษตรฯ'​ ปั้นสินค้าเกษตรทันสมัย​ ยกระดับภาคส่งออก ภายใต้​ '5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย'​ ฝ่าวิกฤติโควิด19

'กระทรวงเกษตรฯ'​ ร่วม​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ เพิ่มศักยภาพใหม่การส่งออกสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์และสมาร์ทแพ็กกิ้งยืดอายุผลไม้และสินค้าเกษตร​ ด้าน​ 'อลงกรณ์'​ ชี้!! ตั้งเป้าต้นปีหน้าเริ่มใช้นวัตกรรมใหม่ ผนึก 'พาณิชย์'​ บุกตลาดจีน, รัสเซีย, ตะวันออกกลาง, เอเซียกลางและยุโรป โดยรถไฟสาย 'อีต้าอีลู่'​ (เส้นทางสายไหม)

นายอลงกรณ์ พลบุตรที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเกษตร​ 4.0  และประธานคณะกรรมการบริหาร​ AIC (Agritech and Innovation Center) เปิดเผยว่า

ตนและคณะจะประชุมกับศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและทีมวิจัยในวันพรุ่งนี้​ (5 พ.ค.)  13.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องความร่วมมือด้านเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นศูนย์​ AIC ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล​ โดยเฉพาะ​ 3​ โครงการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการวิจัยและพัฒนาได้แก่...

1.​ โครงการพัฒนาวัคซีนโควิดจากพืชโดยจะเริ่มผลิตวัคซีนโควิดได้ปลายปีนี้ 
2.​ โครงการพัฒนาการยืดอายุผลไม้ด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์
3.​ โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยืดอายุและความสดของผัก ผลไม้และสินค้าเกษตร
4.​ โครงการเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมด้านอื่นๆ​ เช่นโคนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นต้น

นายอลงกรณ์​ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการพัฒนาการยืดอายุผลไม้ด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์และโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์​ (Smart Packing) ยืดอายุและความสดของผัก ผลไม้และสินค้าเกษตร​นั้น จะมีการนำนวัตกรรมใหม่นี้​ มาใช้กับแผนโลจิสติกส์เกษตรทางเลือกใหม่ในยุคโควิด​ เช่น​ การขนส่งระบบรางจากไทยผ่านจีนไปทุกมณฑลของจีน เกาหลี ภูมิภาคเอเชียกลางภูมิภาคตะวันออกกลาง รัสเซีย สแกนดิเนเวีย ยุโรปและอังกฤษภายใต้ขบวนรถไฟอีต้าอีลู่​ (เส้นทางสายไหม) บนความร่วมมือระหว่างไทย-จีน-ลาว-เวียดนามเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

“มาตรการปัองกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของแต่ละประเทศทำให้ต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นทั้งทางบกทางต้ำและและใช้เวลานานขึ้นในการข้ามแดนตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันนี้ ทาง​ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ จึงสั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาและวางแนวทางโลจิสติกส์ทางเลือกใหม่ๆ​ ภายใต้​ '5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย'​ และประกอบกับเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาวจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้นั้น​ เราจึงต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการขนส่งสินค้าทางรางด้วยเส้นทางนี้ โดยใช้โลจิสติกส์ฮับที่อุดรธานีและหนองคาย ตั้งเป้าเริ่มคิดออฟต้นปีหน้า อีกเส้นทางคือการขนส่งระบบรางผ่านด่านผิงเสียงบริเวณพรมแดนเวียดนามกับเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วงของจีน 

"เราหวังว่า​ ถ้าสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ยืดอายุผลไม้สด เช่น ทุเรียน, มะม่วง, มังคุด, ลำไย, เงาะ, ลองกอง, ขนุน, ผัก, สมุนไพร เป็นต้น จะทำให้มีทางเลือกในการขนส่งที่ถูกลงมีเวลาแน่นอนจากต้นทางถึงปลายทางและใช้เวลาน้อยลง แต่มีช่วงเวลาขายยาวขึ้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าปลีกที่เป็นลูกค้าของไทยทั้งขายแบบออนไลน์และออฟไลน์​ และนี่คือการสร้างศักยภาพใหม่ในการส่งออกของเรา”