ถอดสมการ ‘เฟกนิวส์’ ‘ทฤษฎีสมคบคิด + ข่าวปลอม’ ยกกำลังสองด้วย ‘โซเชียลมีเดีย’ = โกหกอย่างมีหลักการ

การที่เทคโนโลยีได้นำพาสิ่งที่เรียกว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ ออกมาแนบชิดประชาคมโลก มันก็เป็นอะไรที่ช่วยเปิดหูเปิดตาคนได้เยอะ

ข่าวสารมากมาย ความรู้หลากหลาย หาพบได้แค่ ‘นิ้วคลิก’ และ ‘ลากรูด’ ผ่านหน้าจอกะทัดรัดที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถเชื่อมโลกทั้งใบให้เรา ‘รู้กว้าง’ ได้มากกว่าเคย

แต่อย่างว่าเหรียญย่อมมี 2 ด้าน (ถ้าไม่ทะลึ่งไปทำหัว 2 ฝั่ง ก้อย 2 ฝั่ง) เรื่องดี ๆ มีเพียบ แต่เรื่องอัปรีย์ก็มีเสียบแทรกเข้ามาให้เห็นได้พร้อม ๆ กัน

ข่าวปล่อย ข่าวปลอม ข่าวเท็จ หรือเรียกรวม ๆ กันว่า ‘เฟกนิวส์’ (Fake News) มันก็คือหนึ่งในสิ่งที่วนเวียนอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียที่มาพร้อมกันกับโลกจริงแบบคู่ขนาน และดูท่าช่วงนี้จะหลุดออกมามาก ถึงขนาดที่ว่ากันว่าไฟลามทุ่ง ยังไม่รุ่งเท่าแสงแห่ง ‘เฟกนิวส์’ ที่ปล่อยกันในโลกโซเชียลยังไงยังงั้น!! 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องพูดเอาฮา เพราะเคยมีทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย MITตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับข่าวปลอมในปี 2018 โดยระบุว่า พบ ข่าวปลอม ที่ไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเพียงการลือถึง 126,000 โพสต์ แพร่กระจายไปในวงกว้างถึงผู้คนราว 3 ล้านคน และรีทวีตไปรวมมากกว่า 4.5 ล้านครั้ง ระหว่างปี 2006–2017 

ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยชิ้นเดียวกันยังระบุด้วยว่า แค่ 1% ของเฟกนิวส์ สามารถแพร่กระจายเป็นวงกว้างไปสู่คนได้ตั้งแต่ 1,000 ถึง 100,000 คนต่อหนึ่งข่าว (แล้วแต่ข่าว) กันเลยทีเดียว

คำถาม คือ ทำไมผู้คนจึงเชื่อเฟกนิวส์?

ตรงนี้มี 2 ปัจจัยใหญ่ ๆ ให้ลองเช็ค...

ปัจจัยแรก หากพูดตามหลักการแล้ว ‘เฟกนิวส์’ เป็นสิ่งที่เล่นกลกับจิตใจคน เหตุเพราะทุกคนล้วนมีสิ่งที่เรียกว่า ‘การรับรู้อย่างมีอคติ’ (Cognitive Bias) ซ่อนอยู่ในตัว และการรับรู้ในลักษณะนี้นี่แหละ ที่มักจะนิยมชมชอบเนื้อหาที่กระตุ้นอารมณ์อย่างรุนแรง หรือแม้แต่สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจ ตื่นกลัว เกลียดชัง ขยะแขยง ดูถูกดูหมิ่น ฯลฯ (รวม ๆ แล้วฝักใฝ่เรื่องแย่ ๆ ซะมาก)

...มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ชวนเชื่อได้ง่ายกับสิ่งเหล่านี้!!

และถ้ายิ่งเนื้อหานั้น ๆ ออกมาจากคนในครอบครัว เพื่อน ๆ หรือคนที่เราชื่นชม ผสมผสานไปกับความคิดเห็นหรือความเชื่อที่เรามีอยู่แล้วเป็นทุนเดิมด้วยล่ะก็...โอ้โห!! ความถูกผิดที่เคยสั่งสมมาในสมองนี่ถูกย่อยสลายเกลี้ยงได้เลย 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลย หากเราเชื่อว่าผู้นำบางคนในต่างประเทศ (ประเทศไทยก็ได้) ชอบพูดอะไรที่ดูไม่เข้าท่าหรือไม่ฉลาด และบังเอิญดันมีคนไปแชร์คำพูดประหลาด ๆ จากคนเหล่านั้นมาผ่านตาเรา เราก็จะเชื่อง่ายเป็นพิเศษและรีบแชร์ต่ออย่างรวดเร็ว โดยจะตัดความคิดว่านี่คือข่าวปลอมไปจากหัว (ถามใจดูซิว่าเคยทำไหม)

ปัจจัยที่สอง เป็นเพราะคนยุคนี้ไม่ชอบเรื่องราว ‘ซับซ้อน’ และ ‘ขี้เกียจ’ ที่จะตามหาหรือสืบค้นต้นตอให้ยุ่งยาก 

เฮ้ย!! ขนาดนั้นเลยหรอ? 

ขนาดนั้นเลยแหละ!! ขนาดพอ ๆ กับที่เขาบอกกันว่าคนยุคนี้อ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัดยังไงยังงั้นนั่นแหละ 

เรื่องนี้ถ้ายกตัวอย่าง อยากจะพูดในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นภาพสักนิด โดยย้อนไปถึงยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ มักจะรู้ว่าสื่อต้นตอข่าวที่ตัวเองรับข่าวสารมา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ใดบ้างมีระดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ไปบอกเล่าต่อได้

แต่บังเอิญทุกวันนี้ หลากหลายสื่อเล่นกันง่าย ๆ แค่ไปเอาเรื่องราวจากในโซเชียลมีเดีย เอาโพสต์จาก Facebook หรือ Twitter มาอ่านออกอากาศกันอย่างหน้าตาเฉย ราวกับอยากจะช่วยรับประกันว่า ข่าวพวกนั้นเชื่อถือได้ พอมันเป็นแบบนี้ เรื่องจริง เรื่องปลอม จึงปะปนกันมั่วซั่วไปหมด แล้วมันจะไปประสาอะไรกับคนที่อยู่ในโลกโซเชียลที่พบเจอเรื่องอะไรก็เชื่อไปโดยไม่หาต้นตอ ถ้าบังเอิญเรื่องนั้นมันจริง ก็ OK ไป แต่ถ้าไม่ใช่นี่สิ ฮ่วย!! หน้าแหก 

...และนี่แหละที่บ่งชี้ชัดว่า ‘จิตใจคน’ เอย ‘ความไม่ชอบซับซ้อน’ เอย และความ ‘ขี้เกียจ’ เอย เป็นตัวเร่งชั้นดีให้ข่าวปลอมเกิดได้อย่างรวดเร็ว 

ทฤษฎีสมคบคิด ส่วนผสมที่ลงตัวแห่ง ‘เฟกนิวส์’ ที่ทรงเสน่ห์

อย่างไรก็ตาม เฟกนิวส์ หรือ ข่าวปลอมที่ดี (เดี๋ยว ๆ มีด้วยเหรอ) มักจะมาจาก ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ที่บ้างก็เรียกว่า ‘ลัทธิการกบฏ’ (Conspiracy Theory) ซึ่งเป็นเรื่องเล่า บทความที่สร้างขึ้นมาจากความคิดของคน หรือกลุ่มคน โดยนำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน มีข้อเท็จจริงประกอบอยู่เพียงเล็กน้อย กับทุกประเด็นทั้งการเมือง ศาสนา วัฒนธรรม กีฬา และอื่น ๆ 

แต่บอกไว้ก่อนว่าเรื่องเหล่านี้ นักวิชาการจะไม่นำมาใช้อ้างอิงหรอกนะฮะท่านผู้ชม!!

แต่ ๆ ๆ ถึงแม้จะไม่มีใครหยิบมาอ้างอิง ก็จะมีบางกลุ่มที่หยิบ ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ มาอ้างอิงให้เป็นข่าว (ปลอม) โดยพยายามปั้นทฤษฎีให้กลายเป็นข่าว แล้วดันข่าว (ปลอม) เหล่าให้คนในสังคมยอมรับว่าเป็น ‘เรื่องจริง’

ตรงนี้น่ากลัวกว่าข่าวปลอม จากแหล่งที่โกหกและแชร์ต่ออย่างไม่มีนัยยะแอบแฝงอย่างมาก 

เพราะต้องขอบอกว่า เฟกนิวส์ ที่มาจากทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ มีความรุนแรงและพร้อมสร้างความแตกแยกให้กับผู้คนในสังคมได้ง่ายๆ เนื่องจากผู้เผยแพร่ส่วนใหญ่จะหวังผลในระดับสังคม ประเทศ การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม โดย ‘ยกระดับข่าวปลอม’ ด้วยข้อมูลเหตุผลช่วยประคอง ทำให้คนบางพวกที่มี ‘ขบถทางความคิด’ มักจะชอบและเลือกหยิบมาเผยแพร่ต่อได้ง่าย

เอาง่าย ๆ อย่างตอนนี้เรื่องที่ถูกจับมาเป็นข่าวปลอมเชิงทฤษฎีสมคบคิดบ่อยสุด มันก็จะวน ๆ กับเรื่องของโควิด-19 

ตัวอย่างแค่ใกล้ ๆ อย่างในประเทศไทยก็พอ เราคงได้เห็นข่าวปลอม ข่าวมั่วเกี่ยวกับโควิด ที่มีการให้เหตุผลเกี่ยวกับการดูแลร่างกาย การรักษาระยะห่าง วิธีใส่หน้ากาก หรือแม้แต่การฉีดวัคซีนแบบผิด ๆ มาปนเปื้อนใส่หัวคนแบบมีเหตุผลประกอบ แต่มีคนแชร์กันเพียบ ซึ่งหากมองผลลัพธ์ของมันแล้ว นอกจากจะทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่หลาย ยังกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล ที่สะท้อนถึงความห่วยไม่สามารถคุมสถานการณ์อยู่ก็เป็นได้

หรืออย่างทฤษฎีสมคบคิด ที่ถูกใช้ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ใหญ่โตหน่อย ก็กรณีสหรัฐอเมริกากับจีนที่กล่าวหากันเรื่องที่มาของผู้แพร่ไวรัส ที่มองว่าผู้แพร่โรคนี้ต้องการใช้ไวรัสเป็นเครื่องมือบ่อนทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เพราะหลักฐานไม่ชัดเจน ไม่หนักแน่นพอ สุดท้ายแนวคิดเหล่านี้ก็หายไป

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับโควิด-19 ก็ยังมีหลุดออกมาอีกมาก ถึงขนาดมีองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่อย่างเป็นทางการ เช่น QAnon ที่สหรัฐอเมริกา กลุ่มขวาจัดที่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีผู้ติดตามจำนวนไม่น้อย

เรื่องราวของกลุ่มนี้ สามารถจับนั่นโยงนี่ได้จนต้องเบ้ปากมองบน เช่น สร้างข่าวปลอมทฤษฎีสมคบคิดในยุโรปว่าเสา 5G เป็นสื่อกลางกระจายไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษ และ เนเธอร์แลนด์ หรือบ้างก็พยายามเผยแพร่ให้เห็นว่าแผนการล้างโลกด้วยการปล่อยเชื้อโรคให้ระบาดอย่างร้ายแรงและรวดเร็ว 

แม้แต่ บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) เจ้าพ่อ Microsoft ก็ยังโดน!! โดยมีการอ้างว่าโควิด-19 เป็นแผนของนายบิลล์ เกตส์ ที่หวังรวยจากการพัฒนาวัคซีนและยา ที่มูลนิธิของเขาให้การสนับสนุนหลายแห่ง โดยไม่เชื่อมโยงจากคำพูดในงาน TED Talk เมื่อปี 2015ที่เตือนเรื่องการระบาดของไวรัสที่ถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ 

อันที่จริงแล้ว หลากหลายทฤษฎีสมคบคิด มักเป็นแนวคิดที่เกิดจากการ ‘สะสมอคติ’ แม้หลักฐานจะไม่น่าเชื่อถือในเชิงวิชาการ แต่ในเชิงหลักคิดที่มีอารมณ์นำพา มันตอบโจทย์!!  

ที่น่ากลัว คือ ‘ต่อให้มีใครมาบอกข้อมูลจริง ก็ไม่ได้ต้องการการพิสูจน์แล้ว’ เหมือนกับกรณีที่วันนี้ยังมีบางกลุ่มถกกันเรื่อง ‘โลกกลม VS โลกแบน’ อยู่ไม่เลิก

แน่นอนว่า ส่วนผสมที่ลงตัว ต้องพึ่งพาเครื่องมือที่พร้อมลงทัณฑ์ นั่นก็เลยย้อนกลับมาที่โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดและข่าวปลอมกลายเป็น ‘เนื้อเดียวกัน’ แถมยังกระจายไปไกลและรวดเร็ว เกิดมีแอปพลิเคชัน มีแพลตฟอร์ม มีเว็บไซต์มากมายหลายร้อยที่ใช้เผยแพร่ แม้บรรดาเจ้าของเครื่องมือสื่อใหญ่อย่าง Facebook, Twitter, Line และ YouTube จะออกมาตรการควบคุม แต่ก็ไม่สามารถจัดการลบอะไรพวกนี้ได้หมด

ความบิดเบือนทางการเมือง ศาสนา สังคม วัฒนธรรม และอื่น ๆ ของ ‘เฟกนิวส์’ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต่อยอดความเชื่อและความศรัทธา ได้มากกว่า ‘เหตุผล’ ไปเป็นที่เรียบร้อยในยุคที่สมการ ‘ทฤษฎีสมคบคิด + ข่าวปลอม ยกกำลังสองด้วย โซเชียลมีเดีย’ 

ใคร? ซึ่งในที่นี้ไม่ได้อยากระบุว่าเป็น คน, รัฐบาล หรือองค์กรใด ๆ ที่คิดว่าตนเองมี ‘ข่าวแท้’ อยู่ในมือ แต่กลับนิ่งเฉย จะไม่มีวันเอาชนะ ‘เฟกนิวส์’ เหล่านี้ได้ 

และถ้าหากแต่ปล่อยให้พลังของเฟกนิวส์ เกิดการทำซ้ำ ย้ำเรื่องปลอมเข้าไปเรื่อย ๆ โอกาสที่เรื่องปลอม ๆ จะกลายร่างเป็นเรื่องจริง จนถึงขั้นมาทดแทน ‘เรื่องที่แท้จริงแบบไม่บิดเบือน’ ก็มีสูง 

โกหกคำโต พูดง่ายๆ ซ้ำ ๆ สุดท้ายผู้คนก็จะเชื่อ!!

ธรรมชาติของมนุษย์มันก็จะประมาณนี้แหละ!!


อ้างอิง: 
https://siamrath.co.th/n/174018
https://www.the101.world/fake-news/
https://www.nytimes.com/2020/04/17/technology/bill-gates-virus-conspiracy-theories.html