คุณแอล ทักษ์ดนัย นิลกำแหง | THE STUDY TIMES STORY EP.4

บทสัมภาษณ์ คุณแอล ทักษ์ดนัย นิลกำแหง ปริญญาตรี Portland States University สหรัฐอเมริกา 
ติวเตอร์ภาษาอังกฤษ ผลักดันเด็กไทย ให้กล้าพูดภาษาอังกฤษ

คุณแอลไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะได้รับทุนจากคุณแม่ที่อาศัยอยู่อเมริกา เมื่อจบม.4 ที่เทพศิรินทร์ร่มเกล้า จึงได้มีโอกาสไปเรียนต่อเกรด 11 ที่อเมริกา ช่วงแรกมีการเกิด Culture Shock ที่ต้องพยายามสื่อสารกับเพื่อนและครูให้ได้ ตอนนั้นคุณแอลใช้วิธีดูข่าวต่างประเทศ สื่อ CNN BBC ระยะเวลาหนึ่งปี จนพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง 

คุณแอลแนะนำสำหรับคนที่อยากฝึกภาษาอังกฤษ ให้ฟังสถานีวิทยุข่าว VOA ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยในเนื้อหาจะมีช่วงหนึ่งเป็นช่วง Learning English มีการสอนทักษะ ฟัง พูด อ่านเขียน ภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกัน แบบฟรี ๆ 

หลังจากจบไฮสคูล คุณแอลใฝ่ฝันอยากเป็นนักการเมือง นักการทูต จึงตัดสินใจเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ สาขาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ  ที่ Portland State University ที่มีเรื่องของการพัฒนาความยั่งยืนอยู่ด้วย โดยเรียนทั้งหมดที่เป็นองค์รวมของสาขารัฐศาสตร์ในยุคนั้น 

คุณแอลอยู่อเมริกาเกือบ 6 ปี พบว่าเมือง Portland มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมและผู้คนในเมือง Portland ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายกันเหมือนเมืองไทย คุณแอลเคยปั่นจักรยานจากบ้านไปพื้นที่ชนบทของ Portland พบวัฒนธรรมอีกแบบ เป็นออริกอนดั้งเดิม พื้นที่ Portland ล้อมรอบด้วยต้นไม้ ภูเขา ป่าสีเขียว แม่น้ำลำธารจะเย็นทั้งปี ถ้าชอบสายธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน คุณแอลขอแนะนำเมือง Portland เลย

หลังจากเรียนจบได้ 1 เดือน คุณแอลสามารถผ่านเข้ารอบโครงการที่มีชื่อว่า ผู้นำไทย-อเมริกา เป็นโครงการที่ให้เยาวชนไทยในสหรัฐฯ ตั้งแต่ระดับไฮสคูลถึงปริญญาตรี มีโอกาสเข้าไปศึกษารูปแบบการทูตแบบไทย โดยโครงการนี้จะเปิดทุกปี เป็นรูปแบบการทูตระดับตัวน้อย เฟ้นหาเด็กและเยาวชนไทยในสหรัฐฯ ที่มีความสนใจสังคม วัฒนธรรมไทย เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการทูตของประเทศไทย 

หลังจากกลับมาเมืองไทย คุณแอลยังคงสนใจในเรื่องของการขับเคลื่อนสังคม การพัฒนาประเทศ  และถึงแม้เป็นติวเตอร์ แต่ความเป็นการเมืองยังติดตัวอยู่ โดยมุ่งเน้นไปยังนโยบายที่สร้างสรรค์ และส่งเสริมความยั่งยืนให้กับประทศ ตามด้านที่เรียนจบมาโดยตรง 

หากให้เปรียบเทียบมุมมองต่อระบบการศึกษาไทยและอเมริกา คุณแอลมองว่า ระบบการศึกษาแต่ละประเทศมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ไม่ได้มีแต่ปัญหาเสมอไป ยอมรับว่าของไทย มีจุดเด่น ในเรื่องของการสอนให้เด็กรู้จักเรื่องของความดี คุณธรรม จิตสำนึกในการทำเพื่อส่วนรวม ความรักเพื่อน การเสียสละและแบ่งปัน รวมทั้งเรื่องของการออมเงิน ขณะที่สหรัฐอเมริกามุ่งเน้นความรักชาติ การสร้างความคิดสร้างสรรค์ในระดับเยาวชน การเปิดใจซึ่งกันและกัน 

โดยครูแอลในฐานะติวเตอร์ได้นำหลักการประนีประนอมระหว่างครูกับนักเรียนมาใช้ รวมทั้งบาลานซ์การเรียนวิชาการและการเรียนที่เรียกว่า Play&Learn เข้าด้วยกัน 

ด้านปัญหาการพูดภาษาอังกฤษของเด็กไทยส่วนใหญ่ จากประสบการณ์ที่พบ ครูแอลมองเห็นว่า เกิดจากการไม่กล้า อาย กลัวที่จะสื่อสาร ไม่กล้าถามครูผู้สอน โดยครูแอลก็มีแนวทางที่จะให้เด็กกล้าถามได้ 

ครูแอลมีวิธีการสอนแบบขั้นบันได ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป มีการนำสื่อ การ์ดเกม เข้ามาใช้ แต่มีข้อตกลงระหว่างกัน ว่าเล่นได้แต่ก็ต้องทำงานของตัวเองด้วย จะได้มีความรู้ทุกมิติ 

คำแนะนำสำหรับครูไทยที่สอนภาษาอังกฤษ ครูแอลมองว่า สำหรับเด็กเล็ก การเรียนภาษาอังกฤษควรเริ่มจากการฝึกพูด การออกเสียง ตัวสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ  สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ และสามารถนำไปใช้ในขีวิตประจำวันได้ โดยตรงจุดนี้หากทางกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง สามารถปรับหลักสูตรภาษาอังกฤษระดับเด็กเล็ก ให้เป็นในเรื่องของ conversation หรือ communication สิ่งนี้จะทำให้การเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทยไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

.

.

.