ครม.ไฟเขียว โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี วงเงิน 11,629 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบหลักการโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี กรอบวงเงิน 11,629.65 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2565-2570) เป็นเงินงบประมาณจำนวน 7,764.00 ล้านบาท และ เงินนอกงบประมาณ จำนวน 3,865.65 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีอาคารใหม่ ทดแทนอาคารเดิมที่ใช้งานมากว่า 50 ปี รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือย่านนวัตกรรมโยธี เชื่อมโยงสถาบันทางการแพทย์เป็นเครือข่ายที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

โดยโครงการดังกล่าวฯเป็นการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีอาคารใหม่ จำนวน 4 อาคาร ในที่ดิน 16 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา ด้านหน้าขององค์การเภสัชกรรมที่ตั้งอยู่ตรงข้ามคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  รวมพื้นที่ก่อสร้างทั้งสิ้น 275,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 1.อาคารโรงพยาบาลมีความสูง 28 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น พื้นที่ 191,000 ตารางเมตร ให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป ได้แก่ พื้นที่สำหรับหน่วยเวชระเบียน ประชาสัมพันธ์ แผนกพยาธิวิทยา แผนกรังสีวิทยา นิติเวชวิทยา แผนกผ่าตัด หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วยในสามัญ หอผู้ป่วยพิเศษ และหอผู้ป่วยวิกฤตรวมมีขนาดประมาณ 800 เตียง และเป็นพื้นที่ย่านนวัตกรรมโยธี ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์(MIND CENTER: Medical Innovations Development Center)  Co Working Space ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสมของการใช้งาน Clinical research center  สำหรับการบริหารจัดการการทำวิจัยทางคลินิก และสำนักงานบริหารจัดการ (Administrative office) 

2.อาคารสาธารณูปโภคสูง 4 ชั้น พื้นที่ 8,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สนับสนุนการให้บริการสุขภาพ ได้แก่ ฝ่ายสารสนเทศ ฝ่ายโภชนาการ หน่วยปลอดเชื้อ และงานผ้า

3.อาคารจอดรถสูง 10 ชั้น พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร จอดรถได้ประมาณ 1,200 คัน

4.อาคารสำนักงานสูง 10 ชั้น (อาคาร Buffer) พื้นที่ 36,000 ตารางเมตร รองรับพื้นที่ใช้สอยเดิมขององค์การเภสัชกรรม ได้แก่ สำนักงาน สหกรณ์ออมทรัพย์ พื้นที่สวัสดิการต่าง ๆ และอื่น ๆ ก่อนย้ายออกไปใช้พื้นที่ใหม่ที่จังหวัดปทุมธานีในปี 2573

“การสร้างย่านนวัตกรรมโยธี Yothi medical Innovation District : YMID) สอดคล้องกับแนวคิดพัฒนาการบริการทางการแพทย์สู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารด้านสาธารณสุขและสุขภาพให้เข้าสู่ระดับสากล แข่งขันได้  มุ่งสู่ความเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ทุกรัฐบาลได้ผลักดันไว้