ก.แรงงาน ระดมภาคีเครือข่ายพิจารณาร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการมุ่งขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายหมดจากสังคมไทย

กระทรวงแรงงาน จัดประชุมระดมสมองภาคีเครือข่ายกว่า 200 คนพิจารณาร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ฉบับที่ 3 ให้เกิดความสมบูรณ์และนำไปปฏิบัติใช้เพื่อให้การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายหมดสิ้นไปจากสังคมไทย 

วันที่ 31 มีนาคม 2564 นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2565 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบาย ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานดำเนินการเพื่อให้ปัญหาการค้ามนุษย์หมดสิ้นไปจากประเทศไทยตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล และยกระดับประเทศไทยสู่เทียร์ 1 ให้ได้นั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับนโยบายดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติ โดยมอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2564 - 2565 เพื่อให้สอดรับการที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก 

อีกทั้งปัญหาการใช้แรงงานเด็กของประเทศไทย เป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาโดยตลอด จากรายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในประเทศไทย ปี 2562 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย 2,696 คน เป็นการใช้แรงงานเด็กในการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้ายาเสพติดมีจำนวนมากที่สุด 2,495 คน รองลงมาคือ การกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้าประเวณี จำนวน 106 คน การกระทำผิดที่เกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานเด็ก จำนวน 59 คน และการให้เด็กทำงานที่มีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือศีลธรรมของเด็ก จำนวน 36 คน 

ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทยดีขึ้นเป็นลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการใช้แรงงานเด็กก็ยังไม่ได้หมดไปจากประเทศไทยแรงงานเด็กบางส่วนยังต้องทำงานเนื่องจากครอบครัวยากจน โดยที่เด็กมีระดับการศึกษาไม่สูงนัก เมื่อเข้าสู่ระบบการทำงานจึงทำให้เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกชักจูงไปกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เด็กอาจทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี หรือทำงานที่เป็นอันตรายขาดการพักผ่อน ทำให้เด็กที่ทำงานมีปัญหาด้านสุขอนามัยและสุขภาพจิต รวมทั้งการขาดโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาอาชีพ

นางโสภา เกียรตินิรชา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมอบให้ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการศึกษาการประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2563 พร้อมทั้งจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย พ.ศ. 2564–2565 โดยการจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ จำนวน 200 คน ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ ฉบับสมบูรณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดไปจากประเทศไทย