บทสัมภาษณ์ 'เพียงฝัน นาคสุขไพบูลย์' นักเรียนทุนออทิสติกไทยคนแรก ปริญญาเอกแพทย์ UK

STUDY TALK: เปิดบทสัมภาษณ์ 'เพียงฝัน นาคสุขไพบูลย์' นักเรียนทุนออทิสติกคนไทยคนแรก ปริญญาเอกแพทย์ในอังกฤษ มุ่งมั่นผลักดันสังคมเท่าเทียมเพื่อผู้พิการ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

แนะนำตัวให้แฟน ๆ THE STUDY TIMES รู้จักอย่างเป็นทางการสักนิดค่ะ?  

เพียงฝัน นาคสุขไพบูลย์ค่ะ ตอนนี้อายุ 31 ปี กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก คณะแพทยศาสตร์ ทำวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ ชื่อหัวข้อวิจัยว่า Marie Curie Early Stage Researcher โดยได้รับทุนเต็มจำนวนจากสหภาพยุโรป หลักสูตร SPARK MSCA-COFUND ของมหาวิทยาลัยควีนส์ เบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ สหราชอาณาจักร ตอนนี้ใช้ชีวิตที่สหราชอาณาจักรเป็นหลักค่ะ

คุณเพียงฝันมีคนติดตามทั้งใน ทวิตเตอร์และ Clubhouse จำนวนมาก แปลว่าสนใจข่าวสารและเทคโนโลยีใช่ไหมคะ

ใช่ค่ะ มีความสนใจเกี่ยวกับข่าวสารทุกประเภท ซึ่งมีเรื่องที่สนใจพิเศษคือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ และการเข้าถึงบริการสาธารณะ ในฐานะที่ฉันมีความพิการเช่นกัน โดยมีอาการแอสเปอร์เกอร์ (Asperger’s Disorder) ซึ่งเป็นความบกพร่องทางพัฒนาการ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับออทิสติก

ฉันเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องมีการถกหรือหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาอย่างกว้างขวางบ่อยครั้งและไปสู่สาธารณะ เพราะว่าเราต้องการให้ทั้งโลกให้พื้นที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่านี้

มองว่าเครื่องมือสื่อสารในยุคนี้อย่าง Twitter และ Clubhouse มีพลังมากไหม อย่างไร?

มีพลังอย่างมากค่ะ เพราะว่าเป็นช่องทางให้ผู้คนได้พูดคุย แลกเปลี่ยนทัศนะเรื่องต่างๆ ในเวลาแค่เสี้ยววินาที ถ้าผู้คนเชื่อในสิ่งที่คุณพูดหรืออุดมการณ์ของคุณ พวกเขาก็จะติดตามคุณและฟังคุณ ฉันคิดว่ามันเยี่ยมมาก อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นดาบสองคม เพราะเราอยู่ในโลกที่ข้อมูลผิดพลาดไปหมด ข่าวปลอมก็เยอะมากด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ทุกๆ คนจะต้องตรวจสอบข้อมูลทุกสิ่งที่เห็นและได้ยินในโซเชียลมีเดีย และต้องใช้การคิดวิเคราะห์มากกว่าการใช้ความรู้สึกในการรับข่าวสาร

ได้ทุนเรียนมาตลอด ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า ได้ทุนมาตั้งแต่เรียนชั้นไหน ทุนอะไรบ้าง?

1.) United World Colleges (UWC) scholarship to study at UWC Red Cross Nordic, Norway

2.) Shelby UWC Davis Scholarship, Clark University, MA, United States

3.) SPaRK MSCA COFUND, Queen’s University Belfast, Northern Ireland, United Kingdom.

เห็นว่าผ่านกิจกรรระดับโลกมาเยอะมาก เคยร่วมกิจกรรมอะไรมาบ้างคะ?

1.) ตัวแทนประเทศไทย Telenor Youth Forum and Nobel Peace Prize ปี 2015

2.) ตัวแทนประเทศไทย World Culture forum in Bali Indonesia ปี 2015

3.) กล่าวสุนทรพจน์ TEDxThammasatU talk หัวข้อ “We are differently-abled” ปี 2015.

4.) นักศึกษาฝึกงานที่สถาบันวิจัย The National Museum of Natural History in Washington DC and University of Massachusetts Medical School

5.) ผู้แทนบัณฑิต The University of Birmingham (2017-2018) and สมาชิกสภานักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย  

6.) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง The 2020’s Falling Walls Groningen, Netherlands

ชอบเรียนหนังสือตั้งแต่เด็กเลยไหมคะ?

ฉันเติบโตมากับการที่หน้าบ้านของเราเป็นร้านหนังสือ ฉันชอบยืมหนังสือนิตยสารอย่าง National Geographic ฉบับภาษาไทย , a Day, Seventeen, คู่ผู้สร้างคู่สม มาอ่าน รวมถึงหนังสือพิมพ์ด้วย ฉันชอบใช้เวลากับอย่างสันโดษไปกับหนังสือ การรักการอ่านเปิดโลกของเราในหลายมิติ หนังสือที่ฉันเลือกอ่านไม่เฉพาะให้ประโยชน์กับเราในทางวิชาการเท่านั้น แต่ทำให้ฉันมองเห็นโลกในมุมมองที่แตกต่างออกไป การอ่านเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีทักษะในการเข้าสังคมได้ด้วย เพราะช่วยให้ฉันสามารถที่จะมีชุดความคิดในการสนทนากับผู้อื่นอย่างชาญฉลาด ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดี รวมไปถึงคนรักของฉันที่กำลังจะแต่งงานกันในเดือนเมษายนนี้เช่นกัน

คิดว่าการศึกษามีความสำคัญกับเราอย่างไร?

พูดเรื่องการศึกษาบ้าง การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ช่วยขับเคลื่อนสังคมและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น ซึ่งเราได้รับสิ่งดีๆ ในชีวิตจากการศึกษา หากฉันไม่ได้รับโอกาสการศึกษาในวันนั้น ฉันก็คงไม่มีวันนี้ การศึกษาสำหรับฉัน ไม่ใช่แค่การศึกษาในระบบ แต่รวมถึงการศึกษาจากประสบการณ์การทำงาน การฝึกงาน หรือการศึกษานอกระบบด้วย การศึกษาเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัยสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

การมีภาวะออทิสติก ทำให้การเรียนและความฝันในการชิงทุนยากขึ้นไหมคะ มีวิธีคิดอย่างไร?

คำถามนี้พิกลอยู่นะคะ อาจจะเป็นเพราะขึ้นอยู่กับนโยบายและการให้ทุนในแต่ละประเทศด้วย ถ้าเป็นประเทศไทยฉันก็ไม่รู้ เพราะฉันใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมาตั้งแต่ยังเด็ก อย่างที่สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา จะมีกฎหมายที่ปกป้องไม่ให้ผู้พิการถูกแบ่งแยกออกไป หลักสูตรและนโยบายต่างๆ จึงมีความเท่าเทียมมาก ยกตัวอย่าง https://www.rnib.org.uk/young-people-starting-work/two-tick-symbol ทั้งที่พักอาศัย หรือสวัสดิการอะไรก็ตามที่ควรจะได้ ก็จะสมเหตุสมผลอย่างมาก การใช้ชีวิตเลยไม่ได้ยุ่งยากมากนัก

แต่สำหรับการเรียน แน่นอนว่าฉันใช้ความพยายามมากกว่าคนปกติที่ไม่พิการถึง 5,000 เท่า เพื่อจะแสดงความโดดเด่นในการได้รับทุนการศึกษาแต่ละครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีเพดานบางอย่างสำหรับผู้หญิง และยิ่งเป็นผู้หญิงที่พิการอย่างฉันก็ยิ่งมีเพดานที่สูงขึ้นไปอีก มีหลายครั้งที่ฉันต้องร้องไห้ที่ได้รับจดหมายปฏิเสธจากหลายมหาวิทยาลัยหรือสถานที่ทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการท้าทายฉันให้ทลายเพดานนั้นและทำให้สำเร็จให้ได้ อย่าละทิ้งความพยายามที่จะทำอะไร เพราะอะไร? เพราะฉันได้ทลายเพดานนั้นมาแล้ว ฉันหวังว่าจะเป็นการปูเส้นทางให้คนอื่น กล้าที่จะเดินตามหลังฉันมาเช่นกัน

คุณเพียงฝันเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน ทั้งผู้พิการและผู้มีสภาพร่างกายปกติ อยากให้คุณเพียงฝันให้กำลังใจ สำหรับคนที่กำลังท้อแท้หน่อยค่ะ?

ชีวิตยากค่ะ ไม่มีทางที่จะปฏิเสธมันได้เลย ถ้าฉันปฏิเสธก็แปลว่าฉันกำลังโกหกทุกท่านอยู่ มันจะมีช่วงที่ยากสำหรับทุกคน ทุกที่แตกต่างกันออกไป หายใจเข้าลึกๆ กอดครอบครัวและเพื่อนของคุณ หรือมองหาความช่วยเหลือจากคนที่เชี่ยวชาญกว่า มันไม่ได้น่าอายเลย และจำไว้ว่าอย่ายอมแพ้ วันนี้อาจจะไม่ใช่วันของคุณ มีหลายครั้งที่ไม่ใช่วันของฉันเหมือนกัน แต่วันหนึ่งมันจะมีวันของคุณค่ะ

สำหรับผู้พิการ อย่าให้ความพิการและภาพจำของคนอื่นมาตัดสินคุณ คุณสมควรได้รับสิ่งที่พิเศษเสมอ

มีคติพจน์ประจำใจไหมคะ?

“Today you are You, that is truer than true. There is no one alive who is Youer than You!” — Dr. Seuss

“วันนี้คุณก็คือคุณ นั่นคือความจริงยิ่งกว่าความจริง และไม่มีใครในโลกที่จะเป็นตัวคุณได้ไปมากกว่าคุณ”