ผลการศึกษานำร่องของสหรัฐฯ ชี้ โควิด-19 แพร่กระจายในโรงเรียนยาก หากโรงเรียนให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวังทางสาธารณสุข อาทิ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม และล้างมือเป็นประจำ

การศึกษานำร่องในรัฐมิสซูรีของสหรัฐชี้ว่า การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในโรงเรียนเป็นเรื่องยาก แม้มีกลุ่มผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากโรงเรียนให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวังทางสาธารณสุข อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และการล้างมือเป็นประจำ

การศึกษานำร่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ (WUSTL) และหน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ ครอบคลุมโรงเรียน 57 แห่งในรัฐมิสซูรี โดยโรงเรียนทุกแห่งกำหนดให้นักเรียน ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้มาเยือน สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในพื้นที่โรงเรียนหรือบนรถบัส

มาตรการด้านความปลอดภัยอื่นๆ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของมือ การทำความสะอาดสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบวงจร การรักษาระยะห่างในห้องเรียน การตรวจคัดกรองอาการโรคโควิด-19 ทุกวัน การติดตั้งสิ่งกีดขวางทางกายภาพระหว่างครูและนักเรียน การเสนอทางเลือกในการเรียนทางออนไลน์ และการระบายอากาศเพิ่มเติม

กลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษานำร่องครั้งนี้ครอบคลุมประชาชน 193 คนจาก 22 โรงเรียนของกลุ่มข้างต้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้มีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวก 37 ราย แบ่งเป็นนักเรียน 24 ราย (ร้อยละ 65) และครูหรือเจ้าหน้าที่ 13 ราย (ร้อยละ 35) และเป็นผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย 156 ราย แบ่งเป็นนักเรียน 137 ราย (ร้อยละ 88) และครูหรือเจ้าหน้าที่ 19 ราย (ร้อยละ 12)

บรรดาผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย 102 ราย ที่ดำเนินการตรวจโรคโควิด-19 ด้วยวิธีทดสอบน้ำลาย มีเพียงสองรายเท่านั้นที่มีผลตรวจโรคเป็นบวก ซึ่งบ่งชี้ว่าการแพร่เชื้อขั้นทุติยภูมิในโรงเรียนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ยังไม่ตรวจพบการแพร่ระบาดในโรงเรียนที่เข้าร่วม แม้อัตราการแพร่กระจายในชุมชนจะอยู่ในระดับสูงเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน แม้กระทั่งโรงเรียนในเมืองสปริงฟิลด์ที่อนุญาตให้ผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยบางคนยังคงอยู่ในโรงเรียนได้

"โรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้อย่างปลอดภัยในช่วงของการแพร่ระบาด หากปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน" เจสัน นิวแลนด์ ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน หนึ่งในผู้นำวิจัย กล่าว "การศึกษานำร่องแสดงให้เห็นถึงอัตราการแพร่เชื้อในโรงเรียนในระดับต่ำและไม่มีการถ่ายทอดจากนักเรียนสู่ครู แม้การศึกษาครั้งนี้จะดำเนินในเดือนธันวาคม ซึ่งมีอัตราการแพร่กระจายในชุมชนระดับสูงก็ตาม"

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยจะดำเนินการวัดระยะห่างระหว่างโต๊ะในห้องเรียนในอนาคต เพื่อประเมินว่าจะสามารถผ่อนปรนกฎระยะห่างทางสังคม 6 ฟุต (180 เซนติเมตร) ในโรงเรียนได้หรือไม่ ทั้งยังจะส่งแบบสำรวจไปยังผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ เพื่อประเมินความเครียดและสุขภาพจิตระหว่างการกักตัวด้วย

ทั้งนี้ การศึกษานำร่องครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในรายงานการเจ็บป่วยและเสียชีวิตรายสัปดาห์ (MMWR) ของ CDC เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา


ขอบคุณที่มา: https://www.ryt9.com/s/iq47/3209874