I care a lot เมื่อห่วง….แต่หวังฮุบ
spoil alert (เนื้อหาในบทความอาจมีการกล่าวถึงเนื้อหาสำคัญในหนัง I care a lot)
ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง I care a lot ชื่อไทยว่า ห่วง… แต่หวังฮุบ เรื่องราวของมิจฉาชีพในคราบนักธุรกิจ นักธุรกิจสาวที่แสร้งว่าตนเองและธุรกิจของตนเองนั้นเป็นธุรกิจที่ห่วงใย ใส่ใจสิทธิและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ แต่ที่ไหนได้ ลับหลังคือการเอาเปรียบหลอกลวงและหวังจะฮุบเอาทรัพย์สมบัติบ้านช่องของผู้สูงอายุมาเป็นของตนเอง โดยใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย จากหนังเรื่องนี้ทำให้มีพูดถึงปัญหาการจัดการทรัพย์สินให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีการรองรับ กฎหมายที่ใกล้เคียงที่สุด คือร่างพระราชบัญญัติบริหารทรัพย์สินส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ ทรัสต์ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่ในบทความนี้จะไม่พูดถึงตัวกฎหมาย แต่อยากชวยคุยในประเด็นสังคมและวัฒนธรรมในการดูแลผู้สูงอายุในประเทศตะวันตก ประเทศที่ได้ชื่อว่าให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด แต่หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอีกมุมอันตรายจากการคุ้มครองสิทธินี้อย่างคาดไม่ถึง
หากมองสภาพสังคมในตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเราก็จะพบว่ามีลักษณะเป็นสังคมปัจเจกนิยม สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเปรียบเสมือนศีลสำคัญของความดำรงอยู่ในสังคม ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่จะเลี้ยงดูลูกในช่วงวัยหนึ่งเท่านั้น เมื่อโตพอที่จะดูแลตัวเองได้ก็จะแยกบ้านเรือนออกไปใช้ชีวิตตนเอง ไม่นิยมการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขยายอย่างเช่นสังคมในประเทศในฝั่งตะวันออก อย่างประเทศไทยที่ลูกหลานพ่อแม่ปูยาตายายอยู่รวมกัน ทำให้ผู้สูงอายุในประเทศแถบตะวันตกมักอยู่เพียงลำพัง พอถึงจุดหนึ่งผู้สูงอายุอาจถูกมองว่าต้องอยู่ในสภาวะพึ่งพิงผู้อื่น แต่หันซ้ายหันขวาลูกหลานอยู่ไกล หรือไม่รู้อยู่ไหนกัน รัฐจึงยื่นมือเข้ามาหวังจะช่วยดูแลผู้สูงอายุ โดยให้อำนาจแก่บริษัทฯดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตัวเอง ได้รวมถึงให้อำนาจบริษัทฯจัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุด้วย ซึ่งก็ดูเหมือนว่าน่าจะดีแต่หนังเรื่องนี้กลับสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายมีช่องโหว่และสังคมเองก็ไม่ได้เชื่อมั่นว่าผู้สูงอายุมีศักยภาพในการดูแลตัวเองได้อย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับเชื่อใจบริษัทตัวแทนเหล่านี้มาก จากกฎหมายที่อยากจะปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุ กลับกลายเป็นผู้ลิดรอนสิทธิของผู้สูงอายุเสียเอง
เรื่องราวน่าหดหู่และชวนให้คิดใคร่ครวญ คือการสะท้อนว่าแม้ผู้สูงอายุยังสามารถดูแลตนเองได้ดีและยืนยันจะดูแลตัวเองต่อไป บริษัทฯก็จัดฉากสร้างเรื่องทำให้ผู้สูงอายุที่ตกเป็นเหยื่อนั้นดูเป็นคนไร้ความสามารถ ให้หมอที่รู้กันกับบริษัทวินิจฉัยว่าผู้สูงอายุมีความจำเลอะเลือนบ้าง หรือมีจิตไม่ปกติบ้างจนไม่สามารถดูแลตนเองได้ เพื่อให้ศาลสั่งบังคับให้มีผู้ดูแล ซึ่งศาลก็มักจะเชื่อตามหลักฐานจากหมอมากกว่าจะเชื่อจากปากผู้สูงอายุ และสุดท้ายผู้สูงอายุก็เข้าไปอยู่ในบ้านพักคนชราที่สมรู้ร่วมคิดกับกับบริษัทฯไว้แล้ว แม้ลูกหลานจะพยายามช่วย หรือแม้แต่จะขอเข้าพบพ่อแม่ยังไม่สามารถทำได้เพราะบ้านพักคนชราและบริษัทฯก็ใช้ข้อกฎหมายมาเล่นแง่จนลูกๆไม่สามารถเข้าพบหรือพาพ่อแม่ออกมาได้
สิ่งที่ทำให้มิจฉาชีพใช้กฎหมายมาเล่นแง่กับลูกๆของผู้สูงอายุได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความที่ลูกๆก็ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดหรือใส่ใจดูแลพ่อแม่มาก่อนหน้านี้ทำให้บริษัทฯใช้เป็นข้ออ้างถึงการไม่ควรให้ลูกเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุรวมถึงทรัพย์สินของผู้สูงอายุ พูดง่ายๆว่าระแวงลูกว่าลูกจะไม่ได้ใส่ใจในการดูแลพ่อแม่และศาลก็เชื่อตามนั้น หนังดำเนินเรื่องแบบตลกร้าย แต่ดูแล้วก็ตลกไม่ออกกับการเห็นผู้สูงอายุต้องตกเหยื่อของธุรกิจที่ชั่วร้ายนี้ ผู้สูงอายุทุกคนสมควรจะได้จะมีชีวิตที่ตามที่ใจปรารถนาในช่วงบั้นปลายชีวิต สมควรที่จะมีอิสระและมีความสุขตามวัย แต่ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุในเรื่องนี้กลับเป็นการพรากคุณค่าและความสุขทั้งหมดทั้งมวลในช่วงบั้นปลายของมนุษย์คนหนึ่งไปอย่างหน้าชื่นตาบาน ซ้ำยังได้รับการชื่นชมในการของการบริหารธุรกิจในโลกของระบบทุนนิยมที่ผลกำไรเป็นเรื่องใหญ่เสมอ สุดท้ายผู้สูงอายุจึงไม่ใช่ผู้ได้รับการคุ้มครองดูแลตามสิทธิอันพึงได้รับ แต่กลับกลายเป็นเหยื่อของธุรกิจค้าความชราจนผู้สูงอายุไม่มีสิทธิแม้แต่จะเป็นเจ้าของชีวิตของตนเองได้เพียงเพราะความเชื่อว่าผู้สูงอายุไม่สามารถพึงพาตนเองได้และจะต้องอยู่ในการดูแลพึงพาอาศัยผู้อื่น
ดูหนังแล้วย้อนดูสังคมไทยกับสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศ แอบใจชื่นขึ้นมาหน่อยเพราะสังคมไทยเราเป็นสังคมที่มีลักษณะความผูกพันในครอบครัวที่เหนียวแน่นกว่าในสังคมตะวันตก การอยู่รวมกันแบบครอบครัวขยายของคน 3 รุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลานยังมีให้เห็นมากมาย ถึงแม้จะมีแนวโน้มว่าจะมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ไหนๆก็พูดถึงผู้สูงอายุเลยขอชวนหันมาดูสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุกันสักหน่อย จากผลการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553 - พ.ศ.2583 พบว่าสัดส่วนของประชากรสูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนจากร้อยละ 13.2 ในปี 2553 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 26.6 ในปี 2573 และเพิ่มเป็น 32.1 ในปี 2583
จากข้อมูลการสำรวจประชากร จะพบว่าตอนนี้ประเทศไทยเราเดินมาไกลเกินกว่าการเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แล้ว ( สังคมผู้สูงอายุ หมายถึง สังคมที่มีสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ) แต่เรากำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ภายในปี 2564นี้ ซึ่งหมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ เพราะจากข้อมูลสถิติประชาการศาสตร์ในปี 2562 ไทยมีประชากรรวม 66,558,935 คน ในจำนวนนี้ มีประชากรวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ทั้งหมดจำนวน 11,136,059 คน คิดเป็นร้อยละ 16.73 หรือนึกภาพเป็นตัวเลขกลมๆ ให้นึกว่าหากมีคนเดินมา 10 คน 2 คนใน 10 นั้นคือผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มที่ประชาชนจะมีอายุขัยที่ยาวขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุวัยปลายมากขึ้นด้วย ดังนั้นภาครัฐของเรานั้นต้องหันมาเร่งดำเนินการเพื่อรองรับกับกับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร
ประเทศไทยมีการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติมา 2 ฉบับแล้ว ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2564) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552 แผนฉบับนี้มีวิสัยทัศน์ว่าผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีประโยชน์ต่อสังคมและสมควรส่งเสริมให้คงคุณค่าไว้ให้นานที่สุดแต่ในกรณีที่ตกอยู่ในสถานะต้องพึ่งพิงผู้อื่นครอบครัวและชุมชนจะต้องเป็นด่านแรกในการเกื้อกูลเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงอยู่ในชุมชนได้อย่างมีสุขภาพที่เหมาะสมที่สมเหตุสมผลได้นานที่สุดโดยมีสวัสดิการจากรัฐเป็นระบบเสริมเพื่อให้เกิดหลักประกันในวัยสูงอายุและความมั่นคงของสังคม แม้จะมีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติมา 2 ฉบับแล้วแต่ภาครัฐต้องเร่งกำลังเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ การส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุ การคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ และการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุซึ่งก็ต้องเร่งพัฒนากันต่อไปให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เกิดขึ้น
นอกจากการดำเนินนโยบายต่างๆเพื่อผู้สูงอายุแล้ว สิ่งรัฐต้องเร่งดำเนินดำเนินการควบคู่ไปด้วยคือการสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคมว่า การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) นั้นไม่ใช่เรื่องระหว่างรัฐกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกครอบครัวและทุกคนในสังคม เป็นเรื่องของคนทุกช่วงวัยที่ต้องทำความเข้าใจและพึ่งพาอาศัยกันต่อไปด้วยความเอื้ออาทรต่อกัน เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ค่านิยมในการมองผู้สูงอายุเป็นบุคคลไร้ความสามารถ เป็นวัยที่ไม่สามารถทำงานหาเงินได้ เป็นวัยที่เป็นภาระ หรือทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงวัยว่า คือคนที่ไม่สามารถปรับตัวหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ โดยเปรียบเทียบผู้สูงวัยให้เป็นไดโนเสาร์เช่นนี้ อาจทำให้เกิดสถานการณ์อย่างในหนังที่กล่าวถึงขั้นต้นเข้าสักวัน
ดังนั้นการสื่อสารเพื่อสร้างทัศนคติในการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ของคนทุกช่วงวัยจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะในสถาบันครอบครัว ความรักความห่วงใยการดูแลเอาใจใส่กันและกันของคนในครอบครัว คือเกราะป้องกันชั้นดีให้กับผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน มิใช่แค่เพียงเด็กๆหรือลูกหลานที่ต้องการความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ ในขณะเดียวกันเมื่อกาลเวลาผ่าน พ่อแม่ในวัยผู้สูงอายุก็ยิ่งต้องการความรัก ควาวมห่วงใยและน้ำใจจากลูกๆ เช่นเดียวกัน ผู้เขียนเชื่อว่าวัฒนธรรมความรักในครอบครัวจะช่วยให้ผู้สูงอายุของไทยสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขและมีความภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเอง
ช่วงนี้เห็นมีโฆษณาบ้านพักผู้สูงอายุหลักเกษียณมากมายมาใช้เลือกใช้บริการทั้งราคาย่อมเยาจนถึงราคาสูงลิบ โฆษณาว่าอยู่ดีอยู่สบายครบวงจรทั้งการดูแลสุขภาพ หมอพยาบาลและอาหารการกิน …. แว๊บหนึ่งแอบคิดถึงหนัง I care a lot ห่วง… แต่หวังฮุบ ขึ้นมาทันที หวังว่าเราจะไม่เจอสภาพเช่นผู้สูงอายุในหนังเรื่องนี้ แต่คิดๆไปก็เบาใจ ผู้เขียนคงไม่เจอสถานการณ์อย่างในหนัง เพราะไม่มีเงินและสมบัติพอให้ใครมาฮุบ ถ้าจะทำหนังคงต้องชื่อว่า “ห่วงได้ แต่ไม่มีให้อะไรให้ฮุบ”
ที่มา
สถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย (ด้านประชากร) – FOPDEV
ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย (dop.go.th) กรมกิจการผู้สูงอายุ
แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2564) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์